คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3985-3987/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานได้เลือกตั้งผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน แม้จะยังมิได้มีการแจ้งจดทะเบียนต่อนายทะเบียนก็ตาม ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 แล้ว ความคุ้มกันประการใดที่มาตราดังกล่าวบัญญัติไว้เพื่อปกป้องกรรมการสหภาพแรงงาน ความคุ้มกันนั้น ๆ ย่อมตกแก่กรรมการสหภาพแรงงานผู้ได้รับเลือกตั้งนั้นทุกอย่างทุกประการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๑๔ ไม่มาทำงานในวันเสาร์ตามข้อตกลงเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ ติดต่อกัน โจทก์จึงเลิกจ้าง ส่วนจำเลยที่ ๑๕ โจทก์เลิกจ้างเพราะจะยุบงานในตำแหน่งที่จำเลยที่ ๑๕ ทำอยู่เพราะจ้างบุคคลภายนอกทำจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ต่อมาจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยกล่าวหาว่า โจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมเนื่องจากจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ เป็นกรรมการสหภาพแรงงานสากลภัณฑ์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าเดิม อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดไม่ถูกต้องขัดต่อหลักเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่ ๖๕/๒๕๒๘ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ กับขอให้พิพากษาว่าคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลเห็นว่าการเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ก็ขอให้ศาลกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรแก่จำเลยี่ ๑๔ และที่ ๑๕ แทนการรับกลับเข้าทำงานเพราะไม่สามารถทนทำงานร่วมกับจำเลยที่ ๑๔ และ ๑๕
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างเพราะไม่พอใจที่จำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ เป็นกรรมการสหภาพแรงงานสกลภัณฑ์ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๖๕/๒๕๒๘ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๔ และ ๑๕ ให้การว่าในระหว่างถูกโจทก์เลิกจ้างจำเลยขาดรายได้ จึงขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๑๔ และ ๑๕ พร้อมดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๖๕/๒๕๒๘ ชอบด้วยกฎหมาย ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ คำขออื่นของโจทก์และจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์เป็นใจความว่า แม้สหภาพแรงงานสากลภัณฑ์มีมติแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๑๔ เป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงาน ให้จำเลยที่ ๑๕ เป็นรองประธานกรรมการสหภาพแรงงานในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๘ ก็ตาม แต่นายทะเบียนก็หาได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑๔ และจำเลยที่ ๑๕ เป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการทันทีไม่ต่อเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ นายทะเบียนจึงได้ออกหนังสือสำคัญแสดงว่าจำเลยที่ ๑๔ เป็นประธานกรรมการ และจำเลยที่ ๑๕ เป็นรองประธานกรรมการสหภาพแรงงานสากลภัณฑ์ตามความในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๓ วรรคสอง เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๘ ถึงก่อนวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ จำเลยที่ ๑๔ และจำเลยที่ ๑๕ จึงยังไม่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ออกคำสั่งเลิกจ้างจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๙ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๘ หาเป็นการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ที่ประชุมลงมติแต่งตั้ง การแจ้งจดทะเบียนต่อนายทะเบียนตามกฎหมายเป็นเพียงเพื่อเป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานบ้างเท่านั้น หาใช่ว่าเมื่อนายทะเบียนยังไม่จดทะเบียนแล้ว คณะกรรมการสหภาพแรงงานจะไม่ใช่กรรมการสหภาพแรงงานไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีหามีประเด็นและความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยหยั่งลึกไปถึงข้อที่ว่า จำเลยที่ ๑๔ และจำเลยที่ ๑๕ เป็นกรรมการสหภาพแรงงานโดยสมบูรณ์นังแต่เวลาใดตามที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานได้เลือกตั้งผู้ใดเป็นกรรมการสหภาพแรงงานแล้ว ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ แล้ว ความคุ้มกันประการใดที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ บัญญัติไว้เพื่อปกป้องกรรมการสหภาพแรงงาน ความคุ้มกันนั้น ๆ ย่อมตกแก่กรรมการสหภาพแรงงานผู้ได้รับเลือกตั้งนั้นทุกอย่างทุกประการ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าขณะที่ตนออกคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ ๑๔ และจำเลยที่ ๑๕ ยังไม่เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน กรณีจึงหาเป็นการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานไม่นั้น ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share