แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับยางแผ่นของกลางไว้ แล้วช่วยพาเอาไปเสียหรือช่วยซ่อนเร้น โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้าในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ จำเลยใช้รถยนต์ของกลางพาเอายางแผ่นของกลางไปถือได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา27 ทวิ นี้พระราชบัญญัติศุลกากรไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 มาใช้ในการที่จะริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีผู้ลักลอบนำยางแผ่นไม่รมควันจำนวน 20,000กิโลกรัม ราคา 300,000 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยางแผ่นดังกล่าวขณะที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย พร้อมรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1047 เพชรบุรีอันเป็นพาหนะที่จำเลยใช้บรรทุกยางแผ่นนั้นเป็นของกลาง ทั้งนี้ จำเลยลักลอบนำยางแผ่นของกลางที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือมิฉะนั้นจำเลยรับไว้ซึ่งยางแผ่นของกลาง แล้วช่วยพาเอาไปเสียหรือช่วยซ่อนเร้น โดยจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นของที่ผู้อื่นนำเข้ามาในในราชอาณาจักรโดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499มาตรา 4 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 5, 6, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง จ่ายสินบนและรางวัลแก่ผู้นำจับและผู้จับตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ปรับ 1,200,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและเงินรางวัลแก่ผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 6, 7, 8 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบแก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับจากราคาของกลาง หากของกลางไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1047 เพชรบุรี ของจำเลย บรรทุกยางแผ่นไม่รมควันเต็มคันรถไปตามถนนรัตนโกสินทร์ ร้อยตำรวจเอกพิทยา เหล่ากูล จ่าสิบตำรวจสามารถ สุขะปุนะพันธ์ กับพวกได้เรียกให้จำเลยหยุดรถขอทำการตรวจค้นและได้จับกุมจำเลยพร้อมกับยึดรถยนต์กับยางแผ่นดังกล่าวเป็นของกลาง ยางแผ่นของกลางมีน้ำหนักรวม 20,000 กิโลกรัม ราคา 300,000 บาท เป็นยางแผ่นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรจากประเทศพม่า การนำเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ต้องเสียอากรศุลกากรแต่ต้องเสียภาษีการค้า 4,995 บาทภาษีเทศบาล 499.50 บาทรายละเอียดปรากฏตามใบประเมินราคาของกลางเอกสารหมาย ป.จ.1 (ของศาลอาญา) มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับยางแผ่นของกลางไว้ แล้วช่วยพาเอาไปเสีย หรือช่วยซ่อนเร้น โดย รู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิดังฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้จำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงว่ายางแผ่นไม่รมควันของกลางเป็นของที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรคงมีข้อโต้แย้งแต่เพียงว่าเป็นของที่เสียภาษีการนำเข้าชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่เท่านั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่ายางแผ่นของกลางเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้เสียภาษีไว้ถูกต้องแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 100 แต่ที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างว่า ยางแผ่นของกลางรวม 20,000 กิโลกรัมนั้น ครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 10,000 กิโลกรัม จำเลยรับซื้อไว้ก่อนวันเกิดเหตุ โดยรับซื้อจากนายสุพรหรือโกปุ่น ลิ่มศิลา ผู้นำเข้าจากประเทศพม่าส่วนอีกครึ่งหนึ่งหรืออีกประมาณ 10,000 กิโลกรัมจำเลยรับซื้อไว้ในตอนเช้าของวันเกิดเหตุโดยรับซื้อจากนายวีระหรือโกตา บุญราศรีผู้นำเข้าจากประเทศพม่า ทั้งนี้ นายสุพรและนายวีระ ต่างได้เสียภาษีสำหรับยางแผ่นในส่วนที่แต่ละคนขายให้จำเลยโดยถูกต้องแล้วตามเอกสารหมาย ป.ล.1 (ของศาลอาญา) นั้น ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวมีพิรุธไม่น่าเชื่อ กล่าวคือ สำหรับยางแผ่นของกลางครึ่งคันรถประมาณ 10,000 กิโลกรัม ที่จำเลยอ้างว่าซื้อจากนายวีระนั้น ตามเอกสารหมาย ป.ล.1 (ของศาลอาญา) ในส่วนที่เกี่ยวกับนายวีระปรากฏว่านายวีระได้นำยางแผ่นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้เสียภาษีไว้ถูกต้องรวม 2 ครั้ง มีน้ำหนักรวมเพียง 8,000กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่ายางแผ่นของกลางที่จำเลยอ้างว่าซื้อจากนายวีระ ส่วนยางแผ่นของกลางอีกครึ่งหนึ่งประมาณ 10,000 กิโลกรัมที่จำเลยอ้างว่าซื้อจากนายสุพร สะสมไว้ตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุนั้น จากทางนำสืบของจำเลยที่ว่า ขณะที่จำเลยถูกจับกุม เอกสารหมายป.ล.1 (ของศาลอาญา) ในส่วนที่เกี่ยวกับนายสุพรนำยางแผ่นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้เสียภาษีไว้ถูกต้องแล้ว ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย โดยจำเลยได้ติดต่อขอเอกสารดังกล่าวจากนายสุพรภายหลังจำเลยได้ประกันตัวในวันรุ่งขึ้นจากที่จำเลยถูกจับกุมแล้วนั้นก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายสุพรพยานจำเลยเองว่า เมื่อจำเลยซื้อยางแผ่นจากนายสุพร นายสุพรจะมอบหลักฐานการเสียภาษีนำเข้ายางแผ่นให้จำเลยไปด้วยทุกครั้ง ซึ่งแสดงว่าเอกสารที่จำเลยติดต่อขอจากนายสุพรดังกล่าวไม่ใช่เอกสารการเสียภาษีนำเข้ายางแผ่นของกลางตามที่จำเลยกล่าวอ้าง พยานหลักฐานของจำเลยจึงขัดแย้งไม่ลงรอยกันทำให้ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่ายางแผ่นของกลางเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้เสียภาษีไว้ถูกต้องแล้วและด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยตามทางนำสืบของโจทก์ที่ว่า จำเลยใช้รถยนต์ของกลางบรรทุกยางแผ่นของกลางมีผ้าใบคลุมปกปิดไว้แล่นไปในเวลากลางคืน จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้รับยางแผ่นของกลางไว้ แล้วช่วยพาเอาไปเสียหรือช่วยซ่อนเร้น โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดจริง จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ดังฟ้อง ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า ศาลจะสั่งริบรถยนต์ของกลางได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทิว โดยใช้รถยนต์ของกลางพาเอายางแผ่นของกลางไปดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น ถือได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดซึ่งในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27ทวิ นี้พระราชบัญญัติศุลกากรไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33มาใช้ในการที่จะริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17”
พิพากษายืน