แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหา เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันต้นไม้ ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ไม้สัก ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกไม่ถึง 5 ปี เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้
จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดต้นไม้ทำลายป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติและทำไม้สัก 2 ท่อน ปริมาตร 0.063ลูกบาศก์เมตร และไม้อื่นอันเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในคราวเดียวกัน ย่อมเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง และ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทหนักตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 73 วรรคสอง
ปัญหาที่ศาลล่างปรับบทกฎหมายดังกล่าวผิด แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง.
ย่อยาว
ืโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันต้นไม้ ทำลายป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และทำให้เกิดความเสียหายแก่ไม้สัก ร่วมกันทำไม้สัก กับไม้ชนิดอื่นอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และร่วมกันมีไม้ดังกล่าวอันมิได้แปรรูปจำนวน ๑๓ ท่อนไว้ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ ที่แก้ไขใหม่พระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๕๔, ๕๕, ๖๙, ๗๒ ตรี, ๗๓ ที่แก้ไขใหม่ข้อหายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำคุก ๖ เดือนปรับ ๕,๐๐๐ บาทข้อหามีไม้หวงห้ามอันมิได้แปรรูปในครอบครองจำคุก ๑ ปีปรับ ๕,๐๐๐ บาทข้อหาทำไม้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ จำคุก ๑ ปีปรับ ๕,๐๐๐ บาทรวมจำคุก ๒ ปี ๖ เดือนปรับ ๑๕,๐๐๐ บาทจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๓ เดือนปรับ ๗,๕๐๐ บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยในข้อหาทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยในข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคสองจำคุก ๒ ปีจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปีรวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วเป็นจำคุก ๑ ปี ๙ เดือนไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ตัดฟัน โค่นไม้สักตามฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๗๖ นั้นปรากฏว่าข้อหาดังกล่าวกฎหมายกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกไม่ถึง ๕ ปีเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งได้ความว่าจำเลยมีอาชีพค้าขายวิทยุ นาฬิกา แว่นตา ปากกาและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จังหวัดนครสวรรค์แต่ไปยึดถือครอบครองทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีไม้สักไม้มีค่าชนิดอื่น ของป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ จำนวนมาก พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่สมควรรอการลงโทษ
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคสองที่แก้ไขแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยในข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดทั้งตามพระราชบัญญติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๗๓ วรรคสองที่แก้ไขแล้วและพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔, ๓๑ วรรคสองที่แก้ไขแล้วอันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ มาตรา ๗๓ วรรคสองที่แก้ไขแล้วและปัญหาปรับบทดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าเฉพาะข้อหาทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๑๑, ๗๓ วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.