แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทราบดีว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นที่เป็นของผู้เสียหายแต่อ้างว่าซื้อมาจากธ. ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเป็นการกล่าวอ้างลอยๆไม่มีพยานสนับสนุนและมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างจริงจังอันเป็นการผิดปกติวิสัยและที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์จำเลยจึงเข้ายึดถือครอบครองทำนากุ้งนั้นก็ได้ความว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ถึง247ไร่เศษมีราคาประเมินถึง14ล้านบาทถ้าเป็นราคาซื้อขายทั่วๆไปจะตกราคาไร่ละ2ล้านที่ดินพิพาทจึงมีราคาซื้อขายเกือบ500ล้านบาทอันมิใช่เล็กน้อยมีถนนสุขุมวิทเข้าสู่ที่ดินพิพาทมีรั้วลวดหนามล้อม3ด้านด้านติดทะเลมีเขื่อนคอนกรีตภายในมีสำนักงานและอาคารเก็บรักษาทรัพย์เจ้าของทรัพย์เป็นรัฐบาลต่างประเทศให้สถานเอกอัครราชทูตของตนดูแลโดยสถานะของเจ้าของและสภาพของทรัพย์ดังกล่าวเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอยู่ไม่ได้ทิ้งร้างดังจำเลยอ้างพ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินและทรัพย์สินของผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินแต่จำเลยไม่ยอมกลับพาพวกใช้อาวุธปืนขู่เข็ญให้พ. ออกไปจากที่ดินต่อมาอ. นายอำเภอซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้จำเลยออกจำเลยไม่ยอมกลับอ้างสิทธิครอบครองเหตุดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาบังอาจของจำเลยได้เมื่อจำเลยกระทำไปโดยเจตนาก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา365(1)(2)ประกอบด้วยมาตรา362และ364 การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นเป็นของผู้เสียหายผู้เสียหายยังครอบครองมิได้ทิ้งร้างแต่จำเลยยังขืนไปยื่นคำขอต่อทางราชการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1367ผู้เสียหายคัดค้านไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินจึงไม่สามารถรังวัดตรวจสอบได้จำเลยได้ให้ถ้อยคำยืนยันตามคำขอซึ่งเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ได้บันทึกข้อความไว้ในบันทึกถ้อยคำ(ท.ด.16)อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีสาระสำคัญว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้เสียหายผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มานานขอให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิได้มาโดยการครอบครองอันเป็นเท็จซึ่งจำเลยมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการที่จำเลยจะได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา267
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยกับพวกตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรร่วมกันมีอาวุธปืนบุกรุกเข้าไปในที่ดินและอาคารเก็บรักษาทรัพย์กับสำนักงานในที่ดิน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อที่จะถือครองอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อมาจำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายยิงเจ้าพนักงานของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กับผู้จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวหากผู้จะซื้อขัดขืนไม่ยอมออกจากที่ดินนั้น นายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยกับพวกออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแต่จำเลยกับพวกเพิกเฉย ต่อมาจำเลยขอออกโฉนดที่ดินและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความลงในบันทึกถ้อยคำ (แบบ ท.ด.16) ซึ่งเป็นเอกสารราชการมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่า ที่ดินดังกล่าวประเทศสหรัฐอเมริกาทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์โดยเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมาซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสถานีวิทยุสื่อสารตลอดมาไม่เคยทอดทิ้ง การแจ้งข้อความเท็จดังกล่าวกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,362, 364, 365 และ 267
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า ที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 140 และ 141ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่2 งาน 20 ตารางวา มีสภาพเป็นถนนและเนื้อที่ 247 ไร่ 1 งาน15 ตารางวา มีสภาพเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุสื่อสารและเป็นนากุ้งมีชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองตามเอกสารหมาย ล.4และ ล.3 ตามลำดับ ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งเครื่องส่งสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคมของสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ. 2527 มาตรา 3 ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูตซึ่งจะถูกละเมิดมิได้ ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 140 เอกสารหมาย ล.4 เป็นถนนเข้าสู่ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 141 เอกสารหมาย ล.3 ในที่ดิน น.ส.3เลขที่ 141 มีรั้วลวดหนามกั้น 3 ด้าน ด้านติดทะเลไม่มีรั้วแต่มีเขื่อนคอนกรีตยาวตลอดแนว ภายในมีอาคารคอนกรีตชั้นเดียว 1 หลังใช้เป็นสำนักงานและอาคารเก็บรักษาทรัพย์ 1 หลัง ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2512 ตลอดมาจนถึงปลายปี 2524 ก็เลิกดำเนินการได้มีการรื้อถอนเฉพาะอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องส่งสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคมออกไป ส่วนถนน อาคาร รั้ว และเขื่อนซึ่งอยู่ในสภาพเดิมทางสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ให้นายไพโรจน์ อยู่เล็ก ซึ่งเคยทำงานอยู่กับสถานีดังกล่าวเป็นผู้ดูแลแทน ในปีเดียวกันนายไพโรจน์ได้นำจำเลยเข้ามาร่วมลงทุนทำนากุ้งในที่ดินพิพาทด้วยและทำอยู่ถึงปี 2526 นายไพโรจน์ออกจากที่ดินพิพาทและไม่ได้เข้ามาทำนากุ้งอีกต่อไปคงมีแต่จำเลยยึดถือและทำนากุ้งตลอดมา ในช่วงปี 2525 จำเลยได้ต่อเติมอาคารสำนักงานเดิมเป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นที่อยู่อาศัยขอหมายเลขบ้านทางราชการได้ให้เลขที่ 158/1 ส่วนอาคารเก็บรักษาทรัพย์จำเลยใช้ทำเป็นครัว จำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ย้อนหลัง 4 ปี ในนามของผู้เสียหายคือตั้งแต่ปี 2521 ถึง 2524 ตามสำเนาภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.5 ฉบับที่ 1 ถึงที่ 4และปี 2525 ถึง 2527 จำเลยยังดำเนินการเสียภาษีในนามของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย ล.5 ฉบับที่ 5 ถึงที่ 7 แต่เมื่อปี 2528 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อทางราชการขอเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีจากผู้เสียหายมาเป็นชื่อของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.19 หรือ ล.9 หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปี 2532 จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของจำเลยจนกระทั่งวันที่ 26 มิถุนายน 2532 จำเลยได้ยื่นคำขอต่อนายเมธี ไตรรัตน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองสมุทรปราการขอแสดงสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367 โดยอ้างว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมทิ้งไว้ไม่ทำประโยชน์มาหลายปี จำเลยได้ยึดถือครอบครองทำนากุ้งได้นำสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่และเป็นผู้เสียภาษีมาแต่ปี 2528ปรากฏรายละเอียดตามคำขอเอกสารหมาย จ.22 หรือ ล.13 นายเมธีนัดรังวัดตรวจสอบที่ดินในวันที่ 15 สิงหาคม 2532 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคัดค้าน ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2532 จำเลยยืนยันต่อนายเมธีขอให้ดำเนินการตามคำขอที่ได้ยื่นไว้แล้ว นายเมธีจึงบันทึกถ้อยคำของจำเลยไว้มีสาระสำคัญว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายได้ทิ้งไว้ไม่ทำประโยชน์ จำเลยเข้ายึดถือครอบครองใช้เป็นที่เลี้ยงกุ้งมาแต่ปี 2517 จำเลยยึดถือครอบครองอย่างเป็นเจ้าของนับแต่ปี 2528 ได้ทำการนำสำรวจเพื่อเสียภาษีและเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาโดยไม่เคยมีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด ปรากฏรายละเอียดตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.24หรือ ล.15 หลังจากนั้นทางราชการได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามคำขอของผู้เสียหายอีกหลายครั้ง และในที่สุดเมื่อวันที่ 17เมษายน 2532 นายอำเภอเมืองสมุทรปราการได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยรับหนังสือแล้วไม่ยอมออกอ้างว่าตนได้มาโดยสิทธิครอบครอง ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานบุกรุกนั้น มีข้อจะต้องวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเถียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานบุกรุกหรือไม่ โจทก์มีนายไพโรจน์ อยู่เล็ก ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยนายสุชาติ ทิมเจริญในสถานที่พิพาทมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ อาคาร เสาอากาศ และเป็นช่างซ่อมเสาอากาศเป็นพยานเบิกความว่า ปลายปี 2524 หลังจากมีการรื้อถอนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องส่งสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคมออกไปแล้ว คงเหลือถนน อาคาร สำนักงาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์รั้ว และเขื่อนทางสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ให้พยานดูแลโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน แต่ทางสถานเอกอัครราชทูตให้พยานอาศัยทำนากุ้ง ในปีเดียวกันพยานได้นำจำเลยเข้ามาร่วมลงทุนทำนากุ้งด้วยโดยแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่งและทำเรื่อยมาจนถึงปี 2526 พยานกับจำเลยเกิดขัดใจกันเพราะแบ่งผลประโยชน์ไม่เท่ากัน พยานจึงให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทจำเลยไม่ยอมออกกลับนำพรรคพวกอีก 2 คน มีอาวุธปืนสั้นคนละกระบอกขู่เข็ญให้พยานออกมิฉะนั้นจะจับกุมพยานกลัวจึงได้ออกจากที่ดินพิพาทและได้นำความไปบอกให้นายสุชาติ ทิมเจริญ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยทราบนายสุชาติพยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของใครใช้ทำอะไร และหลังเลิกใช้แล้วให้ใครดูแลตรงกับคำเบิกความของนายไพโรจน์ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายสุชาติอีกว่าในช่วงปี 2526 หลังจากจำเลยไล่นายไพโรจน์ออกจากที่ดินพิพาทไปแล้ว นายไพโรจน์ได้มาบอกให้พยานทราบ พยานได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยทราบต่อจากนั้นสถานเอกอัครราชทูตจะดำเนินการเกี่ยวกับผู้บุกรุกอย่างไรพยานไม่ทราบ นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิบเอกบุญสม วารีดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเกิดเหตุเป็นพยานอีกว่า หลังจากนายไพโรจน์ถูกจำเลยไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้วนายไพโรจน์ได้มาบอกให้ตนทราบ เห็นว่าโจทก์มีนายไพโรจน์เบิกความยืนยันว่าจำเลยกับพวกรวม 3 คนมีอาวุธปืนขู่เข็ญให้นายไพโรจน์ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาทอาคารสำนักงาน และอาคารเก็บรักษาทรัพย์ของผู้เสียหายให้ออกไปจากทรัพย์สินดังกล่าว และมีนายสุชาติกับสิบเอกบุญสมเป็นพยานสนับสนุนประกอบจำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ไล่นายไพโรจน์ออกไปเพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าที่ไล่ เพราะนายไพโรจน์ลักกุ้งอันเป็นการเจือสมข้อนำสืบของโจทก์ นอกจากนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ได้ความว่า จำเลยต่อเติมสำนักงานที่พักอาศัยเปิดอาคารเก็บรักษาทรัพย์ใช้ทำเป็นครัว ขอเลขบ้านเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของผู้เสียหายแล้วเปลี่ยนมาเป็นชื่อของจำเลยโดยพลการอันเป็นการไม่ชอบจึงทำให้คำเบิกความของพยานทั้งสามของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ที่จำเลยอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นในราคา500,000 บาท มาจากนายธำรงค์ ทรงกำพล ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานสนับสนุน ทั้งการซื้อขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งโดยปกติผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบว่าผู้ขายเป็นใครมีสิทธินำมาขายหรือไม่ ยิ่งที่ดินที่นำมาขายมีเนื้อที่เกือบ 250 ไร่ มีราคาซื้อขายถึง 500,000 บาท เป็นจำนวนไม่ใช่เล็กน้อยจึงน่าจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ และจากการนำสืบของจำเลยอาทิ มีการต่อเติมสำนักงานเป็นที่อยู่อาศัย เปิดอาคารเก็บรักษาทรัพย์ทำเป็นห้องครัว ขอเลขบ้านตลอดจนเสียภาษีบำรุงท้องที่ทั้งในนามของผู้เสียหายแล้วเปลี่ยนมาในนามของจำเลย จึงเชื่อว่าจำเลยต้องทราบดีว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นเป็นของผู้เสียหายแต่จำเลยกลับซื้อจากนายธำรงค์ซึ่งเพียงแต่อ้างว่าเป็นเจ้าของอันเป็นการผิดปกติวิสัย ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ จำเลยจึงเข้ายึดถือครอบครองทำนากุ้งนั้นก็ได้ความว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ถึง 247 ไร่เศษ ได้ความจากคำเบิกความของนายเมธีไตรรัตน์ ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองสมุทรปราการ ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินถึง 14 ล้านบาท ถ้าเป็นราคาซื้อขายทั่ว ๆ ไปจะตกราคาไร่ละ 2 ล้านบาท ที่ดินพิพาทจึงมีราคาซื้อขายเกือบ 500 ล้านบาท อันมิใช่ราคาเล็กน้อย มีถนนจากถนนสุขุมวิทเข้าสู่ที่ดินพิพาท มีรั้วลวดหนามล้อม 3 ด้านด้านติดทะเลมีเขื่อนคอนกรีต ภายในมีสำนักงานและอาคารเก็บรักษาทรัพย์เจ้าของทรัพย์เป็นรัฐบาลต่างประเทศให้สถานเอกอัครราชทูตของตนดูแลโดยสถานะของเจ้าของและสภาพของทรัพย์ดังกล่าวเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอยู่ ไม่ได้ทิ้งร้างดังจำเลยอ้างเหตุดังกล่าวจึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ประกอบฟังได้ว่า เมื่อระหว่างปี 2524 ถึง 2525 นายไพโรจน์ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายได้นำจำเลยเข้าไปทำนากุ้งในที่ดินพิพาทด้วย ครั้นปี 2526 นายไพโรจน์กับจำเลยแบ่งผลประโยชน์ในนากุ้งไม่เท่ากันจึงขัดใจกัน นายไพโรจน์ให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทจำเลยไม่ยอมออกกลับนำพรรคพวกอีก 2 คน มีอาวุธปืนสั้นคนละกระบอกขู่เข็ญให้นายไพโรจน์ออกจากที่ดินพิพาท นายไพโรจน์กลัวจึงได้ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทราบดีว่าที่ดิน สำนักงาน และอาคารเก็บรักษาทรัพย์เป็นของผู้เสียหายจำเลยยังขืนต่อเติมสำนักงานเป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเปิดอาคารเก็บรักษาทรัพย์เป็นครัว ที่ดินพิพาทบางส่วนจำเลยทำนากุ้งโดยทำประตูระบายน้ำยกคันดิน ซ่อมเขื่อนที่ชำรุดทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายยังครอบครองอยู่เมื่อนายวีระ ลำไยทอง นายอำเภอเมืองสมุทรปราการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายให้จำเลยออก จำเลยไม่ยอมออกกลับอ้างสิทธิครอบครองโดยไม่มีเหตุดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาบังอาจของจำเลยได้เมื่อจำเลยกระทำไปโดยเจตนาก็ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1)(2) ประกอบด้วยมาตรา 362 และ 364
ในปัญหาที่ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายยังครอบครองอยู่มิได้ทิ้งร้าง แต่จำเลยยังขืนไปยื่นคำขอต่อทางราชการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367โดยอ้างว่าผู้เสียหายเจ้าของทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มานานขอให้ทางราชการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้ปรากฏในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ปรากฏรายละเอียดตามคำขอเอกสารหมาย จ.22 หรือ ล.13 หลังจากนั้นนายเมธี ไตรรัตน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอเมืองสมุทรปราการได้ดำเนินการตามคำขอของจำเลยโดยจะต้องมีการรังวัดตรวจสอบที่ดิน ปรากฏว่าสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคัดค้านไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินจึงไม่สามารถรังวัดตรวจสอบได้ จำเลยได้ให้ถ้อยคำยืนยันตามคำขอซึ่งนายเมธีเจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่ได้บันทึกข้อความไว้ในบันทึกถ้อยคำ(ท.ด.16) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีสาระสำคัญว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้เสียหาย ผู้เสียหายทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ จำเลยเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์มานาน ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิได้มาโดยการครอบครองปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.24 หรือ ล.15 อันเป็นเท็จซึ่งจำเลยมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานในการที่จำเลยจะได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(1)(2) ประกอบด้วยมาตรา 362 และ 364 กับมาตรา 267ลงโทษฐานบุกรุกจำคุก 3 ปี และความผิดเกี่ยวกับเอกสารมาตรา 267จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี