คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3976/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่า แต่การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยมิได้อุทธรณ์กลับแก้อุทธรณ์ของโจทก์และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกัน ดังนี้ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาฆ่า จึงเป็นฎีกาในข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายชกต่อยทำร้ายจำเลยที่ชั้นสองของตึกแถว แล้ววิ่งขึ้นไปที่ห้องพักผู้เสียหายที่ชั้นสาม จำเลยตามผู้เสียหายขึ้นไป เพื่อจะทำร้ายผู้เสียหายเมื่อเห็นผู้เสียหายยืนอยู่ตรงทางเข้าห้องพักผู้เสียหาย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย 1 นัดถูกที่บริเวณหน้าท้อง ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อนแต่ขณะจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายผู้เสียหายไม่ได้จะเข้าทำร้ายจำเลย และที่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยที่ชั้นสองก็ไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว จำเลย จึงอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้ แต่การที่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยแล้ววิ่งขึ้นไปชั้นสาม จำเลยตามขึ้นไปแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยยังมีโทสะอยู่ เป็นการกระทำเนื่องจากถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เป็นความผิดฐานพยายามฆ่า โดยบันดาลโทสะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 33 ริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืนของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบด้วยมาตรา 69 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำคุก 10 ปี หลังเกิดเหตุจำเลยรอมอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ประกอบกับจำเลยมีคุณความดีมาก่อน นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าแต่การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุจำเลยมิได้อุทธรณ์กลับแก้อุทธรณ์ของโจทก์และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทำร้ายจำเลย ส่วนสาเหตุที่ทำร้ายที่ผู้เสียหายยกขึ้นอ้างนั้นขัดต่อเหตุผล กล่าวคือ การที่ผู้เสียหายพูดขอโทษจำเลยย่อมไม่มีเหตุผลอันจะทำให้จำเลยไม่พอใจจนถึงกับทำร้ายผู้เสียหาย หากจำเลยจะเกิดความไม่พอใจและทำร้ายผู้เสียหายก็น่าจะเกิดขึ้นในตอนแรกที่อยู่ชั้นล่างที่ผู้เสียหายถามหาลูกกุญแจจากจำเลยจำเลยตอบว่าไม่ทราบ แต่ผู้เสียหายกลับพูดทำนองว่าถ้าไม่มีคนหยิบไปแล้วลูกกุญแจจะหายไปได้อย่างไร อันเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยหรือนางสาวจุฑาทิพย์ภริยาจำเลยเอาลูกกุญแจไปมากกว่า แต่จำเลยก็หาได้แสดงความไม่พอใจหรือทำร้ายผู้เสียหายไม่ ทั้งยังได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้พูดว่ากล่าวผู้เสียหายอีกด้วย แต่จำข้อความไม่ได้ ซึ่งจำเลยและนางสาวจุฑาทิพย์เบิกความว่า จำเลยพูดว่าอย่าต่อว่าใครหากไม่รู้จริง และอย่าทำร้ายนางสาวจุฑาทิพย์พี่สาวผู้เสียหาย ประกอบกับนางสาวฐปนีย์ วิไลสกุลยงค์ หลานผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าผู้เสียหายมีนิสัยดุร้าย ฉุนเฉียว ชอบใช้กำลัง ถ้าโมโหสามารถทำร้ายผู้อื่นได้โดยไม่สนใจว่าจะเป็นผู้ใด ผู้เสียหายเคยทำร้ายนายนิรันดร์หรือเล้ง สัจจะดำรงค์ น้องชายผู้เสียหายนางฉันทนา สุวิวัฒนานันท์ น้องสาวผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ผู้เสียหายเคยใช้มีดไล่แทงพยาน เนื่องจากผู้เสียหายกล่าวหาว่าพยานไปพูดเข้าข้างบุคคลอื่น ซึ่งผู้เสียหายก็ยอมรับว่าเคยใช้มีดแทงนายนิรันดร์และเคยตบนางสาวจุฑาทิพย์พี่สาวผู้เสียหาย สำหรับรายนางฉันทนา ผู้เสียหายบ่ายเบี่ยงว่านางฉันทนาแย่งมีดจากผู้เสียหาย จากอุปนิสัยของผู้เสียหายดังกล่าวมีเหตุผลน่าเชื่อว่าการที่จำเลยว่ากล่าวผู้เสียหายไปเช่นนั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายโกรธและทำร้ายจำเลยตามที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้เสียหายเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน ที่จำเลยเบิกความว่า หลังจากผู้เสียหายทำร้ายจำเลยแล้ว ผู้เสียหายวิ่งขึ้นไปชั้นสาม จำเลยวิ่งตามขึ้นไปเพื่อถามว่า เหตุใดจึงทำร้ายจำเลย ขณะที่จำเลยขึ้นถึงขั้นพักบันไดผู้เสียหายยังถีบจำเลย เมื่อจำเลยขึ้นไปถึงพื้นชั้นสาม ขณะนั้นผู้เสียหายยืนหันหลังอยู่ปากทางเข้าห้องพักนายนิรันดร์ จำเลยถามว่าเรื่องแค่นี้ทำไมต้องทำร้ายกันด้วย ผู้เสียหายได้ยินดังนั้นได้หันกลับมาและจะเข้าทำร้ายจำเลย จำเลยจึงชักอาวุธปืนของกลางออกจากกระเป๋ากางเกงเพื่อขู่ผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายวิ่งเข้ามาจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงกระชากลูกเลื่อนและยิงไป 1 นัด ถูกผู้เสียหายล้มลง เห็นว่า การที่จำเลยถูกผู้เสียหายทำร้ายจึงวิ่งตามผู้เสียหายขึ้นไปชั้นสาม ในภาวะเช่นนั้นประกอบกับจำเลยก็ทราบอุปนิสัยของผู้เสียหายดีอยู่แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยตามผู้เสียหายขึ้นไปชั้นสามเพียงเพื่อจะถามว่าเหตุใดจึงทำร้ายจำเลย ตามพฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยตามผู้เสียหายขึ้นไปเพื่อจะทำร้ายผู้เสียหายและเป็นการผิดปกติวิสัยอย่างยิ่งที่ผู้เสียหายเห็นจำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือแล้วผู้เสียหายยังกล้าจะเดินเข้าหาเพื่อจะทำร้ายจำเลยทั้งที่ตนไม่มีอาวุธ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเห็นอาวุธปืนตั้งแต่จำเลยชักออกมาด้วยมือขวาแล้ว โดยผู้เสียหายเห็นได้จากแสงไฟจากชั้นสองและชั้นสามส่องสว่าง ที่จำเลยและนางสาวจุฑาทิพย์เบิกความว่าขณะเกิดเหตุที่ชั้นสามมีแต่แสงไฟจากหลอดไฟขนาดประมาณ 5 แรงเทียน ส่วนหลอดไฟนีออนไม่ได้เปิดเพิ่งจะเปิดหลังจากจำเลยยิงผู้เสียหายเพื่อให้เห็นว่าผู้เสียหายไม่เห็นจำเลยถืออาวุธปืนจึงเข้าหาจะทำร้ายจำเลยนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางสาวจุฑาทิพย์ได้ความว่า เมื่อนางสาวจุฑาทิพย์ขึ้นไปถึงชั้นสามนางสาวจุฑาทิพย์เห็นจำเลยถืออาวุธปืนและเห็นนางสาวแววตาจับมือจำเลยในลักษณะอาวุธปืนชี้ขึ้นข้างบน ทั้งในชั้นสอบสวนนางสาวจุฑาทิพย์ให้การว่า ที่ชั้นสองและชั้นสามมีแสงไฟจากหลอดนีออน ซึ่งการที่พนักงานสอบสวนถามนางสาวจุฑาทิพย์ถึงแสงสว่างในที่เกิดเหตุนั้นนางสาวจุฑาทิพย์ย่อมจะต้องเข้าใจได้ว่าพนักงานสอบสวนถามถึงแสงสว่างในขณะเกิดเหตุ หาใช่หลังเกิดเหตุดังที่นางสาวจุฑาทิพย์เบิกความไม่ จึงเห็นว่าเหตุที่นางสาวจุฑาทิพย์เบิกความเช่นนั้นเป็นการช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นสามีนางสาวจุฑาทิพย์มากกว่า ใช่แต่เพียงเท่านั้น ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า เห็นผู้เสียหายควักอะไรไม่ทราบ จำเลยจึงยิงผู้เสียหาย ตามคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนซึ่งแตกต่างไปจากคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณา จากข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงฟังได้ว่าจำเลยตามผู้เสียหายขึ้นถึงชั้นสาม ขณะนั้นผู้เสียหายยืนอยู่ทางเข้าห้องพักของนายนิรันดร์และห้องพักผู้เสียหายหันหน้าไปทางจำเลย จำเลยได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหาย ดังนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ผู้เสียหายจะเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน แต่จำเลยจะอ้างว่าที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายจะเข้าทำร้ายจำเลยขณะจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ส่วนที่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยที่ชั้นสองและถีบจำเลยขณะตามผู้เสียหายขึ้นไปชั้นสามนั้น ไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว อย่างไรก็ดี การที่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยแล้ววิ่งขึ้นไปชั้นสามจำเลยตามขึ้นไปแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยยังมีโทสะอยู่ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเนื่องจากผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าโดยบันดาลโทสะหาใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ สำหรับฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้แม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 72 ให้จำคุก 3 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ตลอดจนคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share