คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รถยนต์โดยสารของโจทก์มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์เปลี่ยนสี ไม่มีหมายเลขตัวถังรถ ไม่ปรากฎเลขแชชชีเดิมประกอบกับรายละเอียดน้ำหนักรถและจำนวนที่นั่งผู้โดยสารในใบคู่มือ จดทะเบียนรถยนต์กับใบรับรองการตรวจสภาพรถแตกต่างกันมาก กองวิศวกรรมการขนส่งของจำเลยที่ 4จึงออกหมายเลขตัวถังรถให้ใหม่และหมายเหตุเรื่องการเปลี่ยนแปลงไว้ในหนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ ต่อมาโจทก์ขอชำระภาษีรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่อันเกี่ยวกับการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ที่ยื่นพร้อมกับคำขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลของโจทก์ จึงมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการอันเกี่ยวกับการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆเหล่านั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการทำหลักฐานทางทะเบียนปลอมหรือมีการนำรถซึ่งได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาขอรับใบอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร ประกอบกับความจำเป็นในการตรวจสอบหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีข้อที่น่าสงสัยหลายประการ อันเป็นการจำเป็นที่จำเลยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบไปยังหน่วยราชการอื่น ๆ หลายแห่งเป็นเวลานานพอสมควร การกระทำของจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และได้กระทำไปไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ มาตรา 167 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯมีความหมายแต่เพียงว่า รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้ว และยังไม่ครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ระหว่างนั้นเจ้าของรถได้นำรถไปจดทะเบียนประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ก็ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เท่านั้น ไม่มีข้อความให้อำนาจจำเลยที่ 4เรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือที่ค้างชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้เลย ที่จำเลยที่ 4 เรียกเก็บภาษีรถยนต์ของโจทก์ที่ค้างชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ก่อนที่โจทก์จะนำรถมาจดทะเบียนต่อจำเลยที่ 4 จึงไม่ถูกต้อง โจทก์จะต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนประกอบการขนส่งและขอชำระภาษีเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และเป็นการเรียกเก็บเงินค่าภาษีไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่ได้เสียภาษีล่าช้า จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การกระทำของตนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการละเมิด และจำเลยเรียกเก็บภาษีถูกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์ 72 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 4 คืนเงินให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 8,265 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบรับกันว่าโจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีนายเต็กปิว แซ่กัวกับนายฝน วรสุทธิพิศิษภ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประเภทการขนส่งสาธารณะคันคดีนี้ได้ชำระภาษีถึงปี พ.ศ. 2522 และได้แจ้งย้ายจากจังหวัดนครราชสีมาเพื่อมาใช้งานที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.6ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2525 โจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคล และได้นำรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 4 ตรวจสภาพเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2525กองวิศวกรรมการขนส่งของจำเลยที่ 4 ตรวจสภาพแล้วปรากฎว่ารถยนต์โดยสารคันดังกล่าวมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนสีไม่มีหมายเลขตัวถังรถไม่ปรากฎเลขแชชซีเดิม ประกอบกับเมื่อตรวจสอบรายละเอียดในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์กับในรับรองการตรวจสภาพรถแล้วปรากฎว่า น้ำหนักรถและจำนวนที่นั่งผู้โดยสารแตกต่างกันมากกองวิศวกรรมการขนส่งของจำเลยที่ 4 จึงได้ออกหมายเลขตัวถังรถให้ใหม่ และหมายเหตุเรื่องการเปลี่ยนแปลงไว้ในหนังสือรับรองการตรวจสภาพรถตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2525โจทก์ขอชำระภาษีรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกจำเลยที่ 4 จำเลยทั้ง 4 จำเลยทั้งสี่ยังไม่ยอมรับการชำระภาษีโดยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงผลการตรวจสภาพรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวซึ่งปรากฎว่า มีการเปลี่ยนสภาพรถหลายอย่าง จำเลยทั้งสี่จึงจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติความเป็นมาของรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวด้วยความละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันการนำรถซึ่งได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือนำหลักฐานทางทะเบียนปลอมมาขอจดทะเบียน จึงได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังแผนกทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครราชสีมาเพื่อตรวจสอบประวัติความเป็นมาของรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวก่อนเมื่อทราบประวัติความเป็นมาแล้ว จึงจะดำเนินการต่อไปได้ปรากฎตามหนังสือของจำเลยที่ 3 ในฐานะรองอธิบดี (ฝ่ายวิชาการ) ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2526นายเต็กปิว แซ่กัว หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ได้ทำบันทึกรับรองว่า โจทก์ได้ดัดแปลงรถยนต์โดยสารค้นดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนหากมีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โดยสารดังกล่าว นายเต็กปิวขอรับผิดชอบทุก 2521 กรณีปรากฎตามเอกสารหมาย ล.12 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีที่ค้างชำระและเพิ่มเงิน โจทก์จึงได้ชำระหนี้ที่ค้างชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ก่อนที่โจทก์จะนำรถมาจดทะเบียนกับจำเลยที่ 4 รวมเป็นเงิน10,875 บาท
พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์อ้างว่า รถยนต์โดยสารคันนั้นผ่านการตรวจสภาพเรียบร้อยแล้ว จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมรับชำระภาษีรถยนต์โดยสารคันนั้น เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์โดยสารคันนั้นไปประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ แต่ปรากฎตามคำเบิกความของนายปิยะพันธ์ จับปาสุข นิติกร 7 กรมการขนส่งทางบกพยานโจทก์เองว่า รถที่ผ่านการตรวจสภาพแล้ว มีความหมายว่ารถคันนั้นมีสภาพมั่นคงแข็งแรงพอที่จะใช้ในการขนส่งได้เท่านั้นส่วนการที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับรถคันนั้นก็อาจใช้เวลาพิจารณาในการรับจดทะเบียนประมาณ 1-2 วัน แต่ถ้ามีปัญหาก็อาจใช้เวลาพิจารณานายเป็นปี นอกจากนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ข้อ 2 ซึ่งระบุหลักเกณฑ์และวิธีการขออนุญาตและการอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดใดประสงค์จะประกอบการขนส่งส่วนบุคคล ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วยหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองรถในกรณีที่มีรถอยู่แล้วในวันยื่นคำขอ กฎกระทรวงดังกล่าวนี้สนับสนุนให้เห็นว่ากฎหมายมีความประสงค์ให้มีการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งหากเห็นว่าถูกต้องไม่มีปัญหาใด ๆ ก็ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตามมาตรา 73 แล้วให้เจ้าของรถชำระภาษีรถตั้งแต่งวดที่จดทะเบียนใหม่เป็นต้นไป แต่ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้น นายทะเบียนมีอำนาจไม่รับจดทะเบียนจนกว่าจะหมดปัญหาเกี่ยวกับหลักฐานนั้นแล้ว เหตุที่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมรับชำระภาษีรถยนต์โดยสารคันนั้น เนื่องจากหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โดยสารคันนั้นตามใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.6ระบุว่ารถยนต์โดยสารคันนั้นหนัก 8,800 กิโลกรัม มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร 60 คน แต่ตามใบรับรองการตรวจสภาพรถยนต์โดยสารคันนั้นตามเอกสารหมาย ล.2 กลับระบุว่ารถยนต์โดยสารคันนั้นหนัก10,440 กิโลกรัม มีจำนวนที่นั่งผู้โดยสาร 44 คน ทั้งรถยนต์โดยสารคันนั้นได้เปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์และสีรถใหม่ ไม่มีหมายเลขตัวรถหรือโครงแซซซี ไว้ ทำให้น่าสงสัยว่าเป็นรถคันเดียวกันหรือไม่ จำเลยที่ 1 ได้นำบันทึกในเรื่องนี้เสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และชี้แจงด้วยวาจาให้โจทก์ทราบหลายครั้งนอกจากนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะรองอธิบดี (ฝ่ายวิชาการ)ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางบกก็ได้มีหนังสือชี้แจงในเรื่องนี้ให้โจทก์ทราบด้วย จำเลยที่ 2ในฐานะหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและภาษีรถผู้ทำการแทนนายทะเบียนกลางได้มีหนังสือไปยังนายทะเบียนยานพาหนะประจำจังหวัดนครราชสีมาเพื่อขอให้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนรถยนต์โดยสารคันนั้นปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือของหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและภาษีรถเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งต่อมานายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครราชสีมาได้มีหนังสือตอบมาว่า การจดทะเบียนรถยนต์โดยสารคันนั้นครั้งแรกขนส่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้ทำการตรวจสภาพรถ แล้วส่งไปให้นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครราชสีมารับจดทะเบียนและรับชำระภาษีขนส่งจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้ระบุเลขตัวรถหรือโครงแซซซีไว้ในแบบขส.บ.23 จึงไม่ได้บันทึกลงไว้เป็นหลักฐานในต้นและปลายทะเบียนรถยนต์โดยสารคันนั้นฉบับที่เจ้าพนักงานตำรวจเป็นนายทะเบียนปรากฎตามสำเนาภาพถ่าย หนังสือของผู้ทำการแทนนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครราชสีมา เอกสารหมาย ล.8 ซึ่งมีการทำบันทึกเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นอีก หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและภาษีรถผู้ทำการแทนนายทะเบียนกลางได้มีบันทึกข้อความไปยังขนส่งจังหวัดนครราชสีมาเพื่อขอให้ตรวจสอบประวัติรถยนต์โดยสารคันนั้นว่าเคยผ่านการตรวจสภาพเป็นรถประเภทโดยสารประจำทางที่สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาหรือไม่ ปรากฎตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกข้อความของหัวหน้าฝ่ายทะเบียนภาษีรถเอกสารหมาย ล.9 ขนส่งจังหวัดนครราชสีมามีบันทึกข้อความตอบมาว่าได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบใหม่แล้วปรากฎว่าพบแฟ้มเอกสารการตรวจรับรองรถยนต์โดยสารคันนั้นตามประวัติตรวจสภาพครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2517 ซึ่งได้ถ่ายสำเนาส่งมาด้วย ปรากฎตามสำเนาภายถ่ายบันทึกข้อความของขนส่งจังหวัดนครราชสีมาเอกสารหมาย ล.10เจ้าหน้าที่ได้เสนอบันทึกในเรื่องนี้ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นอีกครั้งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 บันทึกความเห็นว่า ควรให้หัวหน้างานตรวจสอบสภาพรถยนต์โดยสารทำการตรวจสอบว่า รถยนต์โดยสารคันนั้นเปลี่ยนสภาพของรถในสาระสำคัญก่อนหรือหลังที่จะได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกหรือไม่เพียงใดปรากฎตามบันทึกของจำเลยที่ 2 ที่แนบท้ายเอกสารหมาย ล.10เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกข้อความตามความเห็นของจำเลยที่ 2 แล้วแจ้งไปยังหัวหน้างานตรวจสอบสภาพรถยนต์โดยสารตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.11 หัวหน้างานตรวจสอบสภาพรถยนต์โดยสารได้บันทึกในเอกสารหมาย ล.11 ว่า ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องของรถยนต์โดยสารคันนั้นได้กระทำก่อนหรือหลังพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก แต่ในวันที่28 มกราคม 2526 นายเต็กปิว แซ่กัว หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถได้ทำบันทึกยืนยันว่าได้เปลี่ยนแปลงสภาพรถเมื่อเดืิอนมิถุนายน 2521 ตามสำเนาภาพถ่ายบันทึกของนางเต็กปิว แซ่กัวเอกสารหมาย ล.12 จำเลยที่ 2 จึงรับชำระภาษีรถยนต์คันนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่อันเกี่ยวกับการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ ที่ยื่นพร้อมกับคำขอรับในอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลของโจทก์จึงมีอำนาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติการอันเกี่ยวกับการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการนำหลักฐานทางทะเบียนปลอมหรือมีการนำรถซึ่งได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาขอรับใบอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งเมื่อได้พิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำสืบรับกัน ประกอบกับความจำเป็นในการตรวจสอบหลักฐานของโจทก์ซึ่งมีข้อที่น่าสงสัยหลายประการอันเป็นการจำเป็นที่จำเลยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบไปยังหน่วยราชการอื่น ๆ หลายแห่งเป็นเวลานานพอสมควรด้วยแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและได้กระทำไปไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และเมื่อการปฏิบัติการตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เป็นข้าราชการในสังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ฉะนั้นในประเด็นในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย
ส่วนในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 4 เรียกเก็บภาษีรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวของโจทก์ ถูกต้องหรือไม่นั้น เห็นว่านอกจากพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71 วรรคสองจะบัญญัติว่า รถที่ใช้ในการขนส่งที่เสียภาษีตามพระราชบัญญัตินั้นแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์แล้วตามมาตรา 86 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติว่ารถที่จดทะเบียนใหม่ในงวดใดให้ชำระภาษีตั้งแต่งวดนั้นเป็นต้นไปโจทก์นำรถมาจดทะเบียนประกอบการขนส่งและเสียภาษีตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 รถของโจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์คงต้องเสียภาษีรถยนต์ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522ต่อไปเท่านั้น ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ตามมาตรา 167 วรรคแรก ให้อำนาจจำเลยที่ 4 เรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือที่ค้างชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้นั้น ได้พิเคราะห์มาตรา 167 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้วเห็นว่า มาตรา 167วรรคแรกเพียงแต่บัญญัติว่ารถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ถึงกำหนดเสียภาษีครั้งถัดไป ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายแต่เพียงว่า รถที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไว้แล้ว และยังไม่ครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีไว้ ระหว่างนั้นเจ้าของรถได้นำรถไปจดทะเบียนประกอบการขนส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 ก็ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์เท่านั้น ไม่มีข้อความให้อำนาจจำเลยที่ 4 เรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือที่ค้างชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้เลย ที่จำเลยที่ 4เรียกเก็บภาษีรถยนต์ของประกาศกระทรวงที่ค้างชำระตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ก่อนที่ประกาศกระทรวงจะนำรถมาจดทะเบียนต่อจำเลยที่ 4จึงไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 4 ต้องคืนเงินค่าภาษีที่เรียกเก็บย้อนหลังดังกล่าวให้ประกาศกระทรวง แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ประกาศกระทรวงต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงได้รับโอนมาเมื่อเดือนเมษายน 2525 นั้น ไม่ถูกต้อง ประกาศกระทรวงจะต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนประกอบการขนส่งและขอชำระภาษีเป็นต้นไปคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2525 ซึ่งเป็นงวดที่ 4 ของปี พ.ศ. 2525จำเลยที่ 5 จึงต้องคืนเงินภาษีงวดที่ 2 และที่ 3 ของปี พ.ศ. 2525พร้อมเงินเพิ่มตามที่ศาลอุทธรณ์หักไว้ 435 บาทรวมเป็นเงิน 1,885 บาท เพิ่มขึ้นอีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1,885 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share