แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดน.ซึ่งมีจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจำเลยที่2ได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1ขึ้นโดยมีจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีวัตถุประสงค์ซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์เช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดน.ซึ่งต่อมาได้มีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดหลังจากนั้นห้างจำเลยที่1ได้มีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อรถยนต์และรับชำระหนี้จากโจทก์โดยตามเอกสารใบแจ้งหนี้ที่หัวกระดาษมีข้อความระบุชื่อห้างจำเลยที่1และได้ระบุชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดน.ในวงเล็บต่อท้ายด้วยดังนี้ฟังได้ว่าห้างจำเลยที่1ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดน.โจทก์มีอำนาจฟ้องห้างจำเลยที่1ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดน.ได้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์กำหนดให้โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยรวม20งวดเป็นรายเดือนทุกเดือนถ้าหากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ15ต่อปีแต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวดแต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลยแสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ฝ่ายจำเลยมิได้เจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัดซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัวดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำเลยจะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อให้โจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยอีกต่อไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ ในราคาคันละ 280,000 บาท มีข้อตกลงว่าโจทก์ต้องชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญาคันละ 80,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระงวดละ 10,000 บาท รวม 20 งวด โจทก์ได้ชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามงวดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ตลอดมา ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์เลิกกิจการและโอนกิจการให้แก่ห้างจำเลยที่ 1 โจทก์ได้นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่จำเลยจนครบถ้วนตามสัญญา และได้บอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนรถยนต์ทั้งสองคันให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยโอนรถยนต์ทั้งสองคันให้แก่โจทก์และชำระค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 10 ล้อห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์กับห้างจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่แยกกันโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันเป็นเงิน 40,000 บาท และค้างดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับไม่นำเงินมาชำระค่าภาษีและนำรถทั้งสองคันไปตรวจสภาพ ทั้งโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองรถพิพาทนั้นอยู่ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน หากไม่ไปจดทะเบียนภายในกำหนด ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2517โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ จำนวน 2 คัน จากห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในราคาคันละ 280,000 บาทชำระเงินในวันทำสัญญา 80,000 บาท ต่อคัน ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท ต่อคัน เป็นเวลา 20 เดือน โดยงวดแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2517ส่วนงวดสุดท้ายวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 ในระหว่างที่โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้ออยู่นั้นจำเลยที่ 2 ได้ต้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ จำเลยที่ 1 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ทุกชนิดเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ แล้วต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ได้จดทะเบียนเลิกห้าง ปัญหาที่จะวินิจฉัยก็คือ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ได้ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์นั้นแล้วต่อมาเดือนสิงหาคม 2519 ปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดยังค้างชำะค่าเช่าซื้ออยู่อีกหลายงวด จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์ดังปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.3 แต่โจทก์ก็ยังไม่ชำระ ครั้งต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2519 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์อีก ดังปรากฏตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.4 ตามใบแจ้งหนี้หรือหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีไปถึงโจทก์นั้น ที่หัวกระดาษได้ระบุข้อความไว้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ แล้วมีข้อความในวงเล็บต่อท้ายว่า หนองแคสมบูรณ์เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือทวงถามฉบับที่ 2 ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.4 นั้นแล้วโจทก์ได้นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2519 เป็นเงิน 40,000 บาทเป็นการชำระหนี้ค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และ 15 ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520ห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ก็จดทะเบียนเลิกห้างโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี หลังจากนั้นโจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้อีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน100,000 บาท ซึ่งครั้งแรกเป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16, 17 และครั้งที่ 2เป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 แต่การชำระค่าเช่าซื้อครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายนั้นจะเป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 19 และ 20 ด้วยหรือไม่ โจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันอยู่ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยในภายหลัง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุจำเลยที่ 1 ขึ้น แล้วต่อมาห้างจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อไปยังโจทก์ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งตามข้อความในหัวกระดาษที่ระบุไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ (หนองแคสมบูรณ์) นั้นย่อมหมายความเป็นทำนองว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ จำเลยที่ 1 กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์เป็นห้างเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2520 ซึ่งทางฝ่ายจำเลยได้ทำบันทึกการรับเงินให้แก่โจทก์ไว้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.5 ฉบับนี้ที่หัวกระดาษมีข้อความระบุไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุอันเป็นการแสดงอยู่ว่าห้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับอยู่ว่าจำนวนเงินที่โจทก์ชำระตามเอกสารหมาย จ.5 นี้ (ชำระเป็นเช็ค) ได้นำไปเข้าบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ได้ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีอีซูซุ จำเลยที่ 1 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แล้วต่อมาได้มีการจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์นั้นเสียประกอบกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น คดีมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าห้างจำเลยที่ 1 ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดหนองแคสมบูรณ์นั้นได้ ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 19 และ 20 นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยไปแล้ว มีปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยในการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดเวลาแล้วหรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ว่าหากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยนั้น โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดทุกงวดเริ่มตั้งแต่งวดที่ 1 เป็นต้นมา โดยเฉพาะงวดที่ 19 และ 20 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายนั้นโจทก์ผิดนัดเป็นเวลาถึง 15 เดือนเศษกล่าวคืองวดสุดท้ายต้องชำระในวันที่ 21กรกฎาคม 2519 แต่โจทก์เพิ่งจะนำค่าเช่าซื้องวดที่ 19 และ 20 ไปชำระเมื่อวันที่ 28กันยายน 2520 ซึ่งทางฝ่ายจำเลยได้ออกใบรับให้ตามเอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าวแล้วข้างต้น โดยชำระเป็นเช็คฉบับแรกลงวันที่ 29 กันยายน 2520 เช็คฉบับที่สองลงวันที่ 13 ตุลาคม 2520 สำหรับดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ยังค้างชำระดอกเบี้ยอยู่ตามบัญชีเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งตามบัญชีดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่การผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 1 เป็นต้นมาจนถึงงวดที่ 19 และ 20ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย โจทก์ก็ไม่ได้ชำระให้ แต่จำเลยก็ไม่เคยใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้และดอกเบี้ยที่ค้างเลย แสดงว่าการชำระหนี้รายนี้ทางฝ่ายจำเลยมิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาโดยเคร่งครัดแต่ประการใด ซึ่งเท่ากับเป็นการสละเงื่อนเวลาอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำเลยก็จะมาขอคิดดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มภาระให้โจทก์ภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงต้องโอนรถยนต์พิพาททั้งสองคันให้โจทก์ โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ทั้งสองคันไปหาผลประโยชน์ ทำให้ขาดประโยชน์ไปนั้น ได้ความจากคำของโจทก์เองว่าการต่อทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำเงินไปชำระให้แก่จำเลยที่ 2แล้วจำเลยที่ 2 จะดำเนินการต่อทะเบียนให้ แต่สำหรับปี พ.ศ. 2524 และ 2525 ที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายนั้น โจทก์มิได้นำเงินค่าภาษี (ค่าต่อทะเบียน) ไปชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งตามพฤติการณ์เป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอากับจำเลย พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น