คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3966/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(7) ไม่จำต้องระบุรายละเอียดในการกระทำความผิด แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนในรายละเอียดต่อไป และแม้รายละเอียดในการร้องทุกข์จะแตกต่างกับคำบรรยายฟ้องไปบ้างก็ไม่ทำให้การร้องทุกข์เป็นไม่ชอบ แม้จำเลยจะอ้างว่าเหตุคดีนี้มิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ แต่จำเลยก็มีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงพระนครเหนือจึงมีอำนาจพิจารณาคดีได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 22(1).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เป็นความผิดต่างกรรมกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 6 เดือน จำเลยมิใช่เป็นผู้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ให้ยกฟ้องข้อหานี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อแรกตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร้องทุกข์ว่าจำเลยยักยอกเงิน 38,393.46 บาท แต่เมื่อฟ้องคดีโจทก์กลับบรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ยักยอกเงินโจทก์ 3 รายการ รวมเป็นเงิน 38,225 บาท(ที่ถูก 38,252 บาท) ทั้งการร้องทุกข์มิได้ระบุรายละเอียดต่าง ๆการร้องทุกข์จึงไม่ชอบ จะใช้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้ร้องทุกข์คดีนี้มิได้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)บัญญัติเพียงว่า การร้องทุกข์หมายถึงการที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าได้มีผู้กระทำความผิดขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และเป็นการกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ จึงหาจำต้องระบุรายละเอียดในการกระทำความผิดในขณะร้องทุกข์แต่อย่างใดไม่แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะสอบสวนในรายละเอียดต่อไปและแม้รายละเอียดในการร้องทุกข์จะแตกต่างกับคำบรรยายฟ้องไปบ้าง ก็ไม่ทำให้การร้องทุกข์เป็นไม่ชอบแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ศาลแขวงพระนครเหนือมีอำนาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าเหตุคดีนี้มิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ แต่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ ดังนั้น ศาลแขวงพระนครเหนือจึงย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 22(1) ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share