คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญํติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 ยกเลิกความใน ม. 91 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่าให้ศาลลงโทษทุกกรรม แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจะต้องไม่เกิน 50 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป ถือได้ว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แม้คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3จะถึงที่สุดแล้วก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) ต้องนำ มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมาใช้ คดีนี้ เมื่อ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 50 ปี 9 เดือน ศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นจำคุกเพียงคนละ 50 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้ฆ่านางมาลีและต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองไม่มีหมายเลขทะเบียนและพกพาไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนางมาลีจนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 83, 84, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิริบของกลาง ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิม เป็นให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,84 ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ที่ 3ผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 83, 91 ลดโทษแล้วทุกกระทงรวมจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 คนละ 50 ปี 9 เดือน และนับโทษต่อส่วนจำเลยที่ 4 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 83 ลดโทษแล้วให้จำคุกตลอดชีวิต ริบรถยนต์ของกลาง

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 4 คืนรถยนต์แก่เจ้าของ

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปรากฏว่าเมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า ให้ศาลลงโทษผู้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฯลฯ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว จะต้องไม่เกิน 50 ปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไปจึงถือได้ว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดแม้คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะถึงที่สุดแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) ต้องนำมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมาใช้ดังนั้นคดีนี้จึงต้องลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพียงคนละ 50 ปี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 4 และนับโทษต่อตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ซึ่งได้แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2526 มาตรา 4

Share