แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 มาตรา 4 บัญญัติให้คุรุสภาเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกระทรวงศึกษาธิการโดย มาตรา 7 บัญญัติให้มีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานฯลฯ มาตรา 10 บัญญัติให้คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา 6 เมื่อมาตรา 7 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาโดยตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามีส่วนในการกำกับควบคุมและสอดส่องดูแลคุรุสภารวมทั้งองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของคุรุสภาให้ปฏิบัติการเป็นไปตามกฎหมาย และในฐานะประธานคณะกรรมการย่อมเป็นผู้แทนกระทำการใด ๆ ต่อบุคคลภายนอกรวมทั้งการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ทุจริต เบียดบังทรัพย์สินขององค์การค้าของคุรุสภาได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติทั่วไปของนิติบุคคลจะพึงกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของนิติบุคคล กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาปฏิบัติหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ครู พ.ศ.2488 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงมีฐานะเป็นผู้แทนอื่น ๆ ของคุรุสภา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และ มาตรา 5 (3) จึงมีอำนาจร้องทุกข์รวมทั้งมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทนได้
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสี่ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 5 และเรียกจำเลยทั้งสามในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352, 353 กับให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 37,341,681.25 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา คุรุสภา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ จำเลยทั้งแปดคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่คุรุสภา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะกรรมการ องค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานของโจทก์ร่วมซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 5 (3) มีวัตถุประสงค์จัดหาผลประโยชน์แก่โจทก์ร่วมและอำนวยความสะดวกในการศึกษา มีผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นตามวัตถุประสงค์ขององค์การค้าของคุรุสภา รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดูแลจัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับองค์การค้าของคุรุสภาในทางที่เป็นประโยชน์ภายใต้ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ขณะเกิดเหตุนายชุมพล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรัฐ เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด มีอำนาจหน้าที่บริหารงานเกี่ยวกับการตลาดและการขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาให้เป็นไปตามนโยบายของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายการตลาด มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการตลาดและการขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งปฏิบัติงานตามที่หัวหน้าฝ่ายการตลาดมอบหมาย จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าส่วนขายส่วนภูมิภาค มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านการตลาดและการขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาในส่วนภูมิภาค จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าส่วนขายส่วนกลาง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานด้านการตลาดและการขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การค้าของคุรุสภา ดูแลจัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับองค์การค้าของคุรุสภาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อองค์การค้าของคุรุสภา จำเลยที่ 6 เป็นหัวหน้าหน่วยขายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำเลยที่ 7 เป็นหัวหน้าหน่วยขายภาคใต้ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาในจังหวัดภาคใต้ จำเลยที่ 8 เป็นหัวหน้าหน่วยขายภาคเหนือ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานขายสินค้าขององค์การค้าของคุรุสภาในจังหวัดภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ทำสัญญาซื้อขายหนังสือแบบเรียนห้ามขาย ปีงบประมาณ 2540 กับองค์การค้าของคุรุสภาเป็นเงิน 373,416,812.80 บาท โดยองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจัดพิมพ์และจัดส่งหนังสือแบบเรียนห้ามขายไปยังสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอหรือกิ่งอำเภอ มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 มีหน้าที่ในการดำเนินการจัดส่งหนังสือแบบเรียนห้ามขายไปให้สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอและกิ่งอำเภอ กับเป็นผู้รวบรวมและทำเรื่องขออนุมัติเบิกค่าจัดส่งเป็นเงิน 37,341,681.25 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินร้อยละ 10 ตามสัญญาซื้อขาย ปี 2541 นายชุมพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับหนังสือร้องเรียนว่าผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาทุจริตเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าดำเนินการขาย การจ้างพิมพ์ จึงสั่งการให้นายสุรัฐ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาตรวจสอบ แล้วรายงานข้อเท็จจริงว่ามีมูลตามที่ร้องเรียน นายชุมพล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานกรรมการอำนายการคุรุสภาได้มอบอำนาจให้นายวีระศักดิ์ ร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งแปดในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเบียดบังยักยอกทรัพย์สินขององค์การค้าของคุรุสภา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 8 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 8 ฎีกาทำนองเดียวกันว่า คดีนี้ผู้เสียหายคือ โจทก์ร่วมซึ่งมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้แทนนิติบุคคล นายชุมพล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ไม่ใช่ผู้แทนโจทก์ร่วม ทั้งไม่ใช่ผู้แทนอื่นที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาให้ดำเนินการร้องทุกข์ ดังนั้น นายชุมพล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาจึงไม่มีอำนาจที่จะจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้นายวีระศักดิ์ ไปร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมได้ แม้ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาจะมีมติเห็นชอบว่าให้หนังสือมอบอำนาจที่นายชุมพลมอบอำนาจ มีผลตามกฎหมาย ก็ไม่มีผลทำให้การมอบอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือมีผลเป็นการให้สัตยาบัน เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ในคดีอาญา ไม่ใช่เรื่องการมอบอำนาจให้ไปทำนิติกรรม ทั้งการร้องทุกข์ไม่ใช่การทำนิติกรรมสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาจะให้สัตยาบันได้ การร้องทุกข์ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้เสียหาย จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นๆ เมื่อการร้องทุกข์ในคดีนี้ไม่ได้มีการมอบอำนาจให้แจ้งความร้องทุกข์โดยชอบจากคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลในกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 4 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไปหลักสูตร แบบเรียน อุปกรณ์ประกอบการเรียน การสอน การฝึกอบรม การวัดผลและประเมินผลการศึกษา การนิเทศการศึกษาและเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดการศึกษา ควบคุมและสอดส่องจรรยา มารยาทและวินัยครู พิจารณาโทษครูผู้ประพฤติผิดและพิจารณาคำร้องทุกข์ของครู พิทักษ์สิทธิของครูภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดส่งเสริมให้ครูได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ตามสมควร รวมทั้งพัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณภาพ และประสิทธิภาพของครู เมื่อโจทก์ร่วมมีฐานะเป็นนิติบุคคล ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล และนิติบุคคลนั้นอาจมีผู้แทนหนึ่งคนหรือหลายคนทั้งนี้ตามที่กฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งจะได้กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 พระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 7 บัญญัติให้มีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน อธิบดีทุกกรมและหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและครูซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกคุรุสภาเป็นกรรมการและให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นกรรมการและเลขานุการ และมาตรา 10 บัญญัติให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา 6 และจะแต่งตั้งอนุกรรมการหรือมอบหมายให้กรรมการอำนวยการคนหนึ่งคนใดไปทำการใดๆ แทนก็ได้ องค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ร่วม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2493 ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา โดยมีผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายใต้ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภา แต่คณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาหาใช่ผู้แทนขององค์การค้าของคุรุสภาไม่ เพราะองค์การค้าของคุรุสภาไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย หากแต่เป็นหน่วยงานหรือองค์การจัดหารายได้ของโจทก์ร่วม เมื่อบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาโดยตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามีส่วนในการกำกับควบคุมและสอดส่องดูแลโจทก์ร่วมรวมทั้งองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ร่วมให้ปฏิบัติการเป็นไปตามกฎหมายและในฐานะประธานคณะกรรมการย่อมเป็นผู้แทนกระทำการใดๆ ต่อบุคคลภายนอก ทั้งการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ทุจริตเบียดบังทรัพย์สินขององค์การค้าของคุรุสภาโดยกล่าวหาจำเลยที่ 5 ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภากับพวกอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติทั่วไปของผู้แทนนิติบุคคลจะพึงกระทำในทางปกป้องรักษาผลประโยชน์ของนิติบุคคลที่ต้องกระทำเป็นการเร่งด่วนภายในอายุความร้องทุกข์ตามกฎหมาย กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ของคุรุสภาตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ดังนั้น ในการร้องทุกข์ นายชุมพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาโดยตำแหน่ง จึงมีฐานะเป็นผู้แทนอื่นๆ ของโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 และมาตรา 5 (3) จึงมีอำนาจร้องทุกข์รวมทั้งมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปร้องทุกข์แทน เมื่อนายชุมพล ในฐานะดังกล่าวมอบอำนาจให้นายวีระศักดิ์ ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งแปดแทนโจทก์ร่วมตามหนังสือมอบอำนาจ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 8 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน