แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม เริ่มนับตั้งแต่เมื่อเจ้าหนี้ทวงถาม เจ้าหนี้มาขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันทวงถามซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001และต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1) ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชน การชำระคืน วงเงินขั้นต่ำและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือเงินให้กู้ยืมของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 54(7) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ออกเอกสารการกู้ยืมเงินที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืนไม่ต่ำกว่าสามปีให้แก่ผู้ให้กู้ และต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ไถ่ถอนก่อนกำหนดเวลาไว้ด้วยนั้น เป็นข้อกำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยเฉพาะ หาได้บังคับในการกู้ยืมเงินจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ด้วยกันโดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินไม่.
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทฯ ลูกหนี้(จำเลย) ไว้เด็ดขาดแล้ว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เจริญผล จำกัด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 3,088,876.71 บาท จากกองทรัพย์สินของบริษัทฯ ลูกหนี้(จำเลย) โดยอ้างว่าเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่จะให้บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ชำระหนี้เป็นอันขาดอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 1001 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มูลหนี้ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสองฉบับ ฉบับละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน2,000,000 บาท ให้แก่เจ้าหนี้ โดยบริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) สัญญาจะจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ16 ต่อปี เมื่อทวงถาม ดังนั้น สิทธิเรียกร้องเจ้าหนี้ในอันที่จะให้บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจึงเริ่มนับตั้งแต่เมื่อเจ้าหนี้ทวงถาม ซึ่งเจ้าหนี้ได้ทวงถามเมื่อครบกำหนด 1 เดือน นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 30 กันยายน 2526 อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 เป็นต้นไป แต่เจ้าหนี้หาได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกให้บริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ชำระหนี้แต่ประการใด จนบริษัทฯ ลูกหนี้ (จำเลย) ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 และเพิ่งมาขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2530 พ้นกำหนด 3 ปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความ และต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า บริษัทฯลูกหนี้ (จำเลย) และเจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชนการชำระคืน วงเงินขั้นต่ำ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือเงินให้กู้ยืมของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ฉบับลงวันที่ 14 กรกฏาคม 2524 ซึ่งออกตามความในมาตรา 54(7) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ออกเอกสารการกู้ยืมเงินที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืนไม่ต่ำกว่าสามปีให้แก่ผู้ให้กู้และต้องมีข้อกำหนดไม่ให้ไถ่ถอนก่อนกำหนดเวลาไว้ด้วยดังนั้น สิทธิเรียกร้องรายนี้จะต้องเริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดตั้งแต่1 ตุลาคม 2529 ตามมาตรา 170 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศดังกล่าวเป็นข้อกำหนดให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยเฉพาะ หาได้บังคับในการกู้ยืมเงินจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ด้วยกัน โดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังที่พิพาทกันในคดีนี้ไม่
พิพากษายืน.