คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3960/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ย่อมเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายที่จะสั่งคำร้องของ น. ที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดตั๋วเงินซึ่งอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินได้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2532 แต่เจ้าหนี้กลับนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 จึงขาดอายุความในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนด 3 ปี และมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่มีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001และมาตรา 193/30 แล้ว แม้ศาลล้มละลายจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยมิได้ยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ ก็หาใช่ว่าศาลล้มละลายได้ยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่ อีกทั้งกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ในส่วนของการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนพิจารณาคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เมื่อในมาตรา 91,94,106,107 และ 108 ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ แม้หนี้นั้นจะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมากล่าวอ้างฟ้องเป็นคดีล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ เมื่อเป็นหนี้ที่ขาดอายุความจึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาแพ็กกิ้งเครดิตเป็นเงิน 156,740,068.49 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เป็นเรื่องสัญญาขายลดตั๋วเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน มิใช่สัญญาแพ็กกิ้งเครดิต และหนี้ตามสัญญาดังกล่าวขาดอายุความแล้ว เป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 107(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน156,740,068.49 บาท ตามคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หักเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนเจ้าหนี้ แต่ค่าทนายความให้เป็นพับ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเรื่องการเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิมเสียก่อนปรากฏว่าขณะที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิมนั้นเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางสั่งรับฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว คดีจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายที่จะสั่งคำร้องของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)ที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลล้มละลายกลางไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งอนุญาตตามคำร้องจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แล้วว่าโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้อง รวมทั้งสิทธิในทรัพย์ที่เป็นประกันหนี้ทั้งหมดที่มีต่อจำเลยให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้

อนึ่ง ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านว่าลูกหนี้ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2531 กับเจ้าหนี้ โดยมีนางกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ และนายทวี ตันติพงศ์อนันต์ กรรมการของลูกหนี้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 ลูกหนี้ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ พี.612/2532 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 55,000,000 บาท แก่เจ้าหนี้ภายใน 95 วัน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว โดยมีนางกังวาฬและนายทวีเป็นผู้อาวัลตามเอกสารหมาย จ.6 และนำมาขายลดให้แก่เจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อครบกำหนดใช้เงินแล้วลูกหนี้ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดตั๋วเงินให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงได้นำมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาขายลดตั๋วเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 156,740,068.49 บาท ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายคดีนี้ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.6 และสัญญาขายลดตั๋วเงินตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.7 ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินวันที่ 10 ตุลาคม 2532 และเจ้าหนี้ในฐานะเป็นผู้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.6 ก็ดี หรือในฐานะผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินตามสัญญาขายลดตั๋วเงินเอกสารหมาย จ.4 และ จ.7 ก็ดี อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระเงินตามสิทธิที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีอยู่ตามตราสารและสัญญาเช่นที่กล่าวมาตั้งแต่วันที่10 ตุลาคม 2532 แต่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์กลับนำหนี้ที่มีอยู่ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 จึงขาดอายุความฟ้องร้องในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนดเวลา 3 ปี และมูลหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินที่มีกำหนดเวลา10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 และมาตรา 193/30 แล้ว แม้ในการพิจารณาคดีของศาลล้มละลายกลางจะได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยมิได้มีการยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ก็ตาม ก็หาใช่ว่าศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ อีกทั้งกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในส่วนการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนพิจารณาชั้นฟ้องคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ดังจะเห็นได้โดยแจ้งชัดตามมาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ตาม” และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 91, 94, 106, 107 และ 108 แล้ว จะเห็นได้ว่าได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายยื่นคำขอรับชำระหนี้ เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่ แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระมานั้นจะเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้นำมากล่าวอ้างฟ้องเป็นคดีล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ตาม แต่ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลจึงมีอำนาจจะฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้สินซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นมีมูลหนี้อันจะพึงอนุญาตให้ได้รับชำระตามคำขอหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่ขาดอายุความเสียแล้ว จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น

พิพากษากลับว่า ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share