แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกู้เงินรายนี้มีผู้ให้กู้หลายบริษัท ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้กู้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นการที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำคดีเกี่ยวกับสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นสัญญาทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ แต่ข้อตกลงเลือกศาลตามสัญญาฉบับนี้คู่สัญญาไม่ได้ตกลงให้ฟ้องร้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพียงศาลเดียวเด็ดขาด เพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้กู้ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กู้ในศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ด้วย การที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในประเทศไทยจึงมีอำนาจทำได้ตามสัญญาและเนื่องจากตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 5 วรรคสองบัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร กับมาตรา 7(5) และ (6) บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ เมื่อจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพและคดีพิพาทเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศโจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้
กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ศาลไทยต้องใช้กฎหมายดังกล่าวนำพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของประเทศนั้นมาสืบประกอบตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีให้เป็นที่พอใจศาล เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 8
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,646,026.23 บาท ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปีของต้นเงิน 5,616,969.87ดอลลาร์สหรัฐ และชำระค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย 29,056.36 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 29,056.36 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี และไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เนื่องจากมีข้อตกลงให้ศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ และให้ใช้กฎหมายประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับ จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ทั้งสามจริง แต่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ทั้งสามจึงยังไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนก่อนครบกำหนด การคิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและคำนวณดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน โจทก์ทั้งสามบังคับจำนำหุ้นโดยไม่สุจริตและขายหุ้นต่ำกว่าราคาจริงทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายคิดเป็นเงิน 75,180,000 บาท นอกจากนี้การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมอันเกิดจากการบังคับจำนำหุ้นเพราะเป็นค่าเสียหายที่ไม่อาจคาดหมายได้โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันตามสัญญาเพราะสัญญามิได้ลงนามโดยผู้มีอำนาจและมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เบิกเงินกู้ครั้งแรกเพียง 2,500,000ดอลลาร์สหรัฐ และครั้งที่ 2 เพียง 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ผิดสัญญาและไม่ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน75,180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่14 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันขายหุ้น เพื่อนำเงินค่าเสียหายนี้มาหักกลบลบหนี้กับจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและไม่อนุญาตให้แก้ไขฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษายืน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,550,052.41 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี ของต้นเงิน 4,755,652.77 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ทั้งนี้ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่มีคำพิพากษานี้เป็นเกณฑ์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ และต้องใช้กฎหมายของประเทศใดมาใช้บังคับแก่คดี กับมีการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสามมีนายธวัช อุดมศิริ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์ทั้งสามเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโจทก์ทั้งสามได้มอบอำนาจให้พยานและหรือนายพิสุทธิ์ เดชะไกศยะ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ทั้งสาม บุคคลที่ลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ที่ 1คือนายเออร์เนส วอง เยือนเว็ง และนายวี อี เชิง กรรมการของโจทก์ที่ 1 ร่วมกับนางวิเวียน ชาน เลขานุการของโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 สำหรับโจทก์ที่ 2 มีนายดาโต๊ะ ริชาร์ด โฮ อึง ฮัน กรรมการ และนายพอน ชาพนี อาหมัดรามลี เลขานุการของโจทก์ที่ 2 ลงนามร่วมกันแต่งตั้งให้นายอ็อง เช็ง ซึง เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 โดยให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ด้วยตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 หลังจากนั้นนายอ็อง เช็ง ซึง ได้มอบอำนาจช่วงให้พยานและนายพิสุทธิ์ฟ้องและดำเนินคดีแทนตามเอกสารหมายจ.8 ส่วนโจทก์ที่ 3 มีนายวี อี เชิงกับนายกึน เฮียง เม็ง ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 3 ได้ร่วมกับนางวิเวียน ชาน เลขานุการของโจทก์ที่ 3 ลงนามแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.10หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวนายวอง เม็ง เม็ง โนตารีพับลิกของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ รับรองและยืนยันว่าเป็นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสาม และลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริง นอกจากนี้นางสาวลินดา โฮตำแหน่ง ASSISTANCE – VICE – PRESIDENT ของโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานรับรองว่า นายเออร์เนส วอง เยือนเว็ง และนายวี อี เชิง ปัจจุบันยังเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ส่วนนางวิเวียน ชาน ก็ยังเป็นเลขานุการของโจทก์ที่ 1 อยู่เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจทั้งสามฉบับได้ลงนามโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนการที่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องในประเทศไทยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มิได้นำคดีไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 36.1 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าการกู้เงินรายนี้มีผู้ให้กู้ร่วมกันหลายบริษัท ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซียส่วนผู้กู้มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นการที่คู่สัญญาตกลงกันให้นำคดีเกี่ยวกับสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นสัญญาทางธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงทำได้ตามหลักกฎหมายทั่วไประหว่างประเทศ แต่ข้อตกลงเลือกศาลตามสัญญาฉบับนี้ คู่สัญญาไม่ได้ตกลงให้ฟ้องร้องยังศาลแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เพียงศาลเดียวเด็ดขาดตามข้อ 36.1 เพราะได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้กู้ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กู้ในศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ด้วยตามสัญญาเงินกู้ข้อ 36.4 ด้วยเหตุนี้ การที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในประเทศไทยจึงมีอำนาจทำได้ตามสัญญา และเนื่องจากตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร กับมาตรา 7(5) และ (6) บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพและคดีพิพาทเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ สำหรับปัญหาว่าศาลต้องใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับแก่คดีหรือไม่นั้นเห็นว่ากฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่เกี่ยวกับคดีนี้มีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่ศาลไทยต้องใช้กฎหมายดังกล่าว นำพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของประเทศนั้นมาสืบประกอบตัวบทกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีให้เป็นที่พอใจศาล เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างมิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ศาลจึงต้องใช้กฎหมายภายในของประเทศไทยมาบังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 8 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องผูกพันตามสัญญาเงินกู้รายนี้หรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 1 ไมได้ให้การต่อสู้ ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะให้การต่อสู้ไว้แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชี้สองสถานศาลไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและจำเลยที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1ได้สละประเด็นข้อนี้แล้ว จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์โต้เถียงอีกไม่ได้เพราะถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด โจทก์ทั้งสามมีนายธวัช อุดมศิริ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามและนางสาวลินดาโฮ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายของโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานว่าเมื่อวันที่21 ตุลาคม 2538 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสามจำนวน 8,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์ทั้งสามครบถ้วนแล้วตามหนังสือการเบิกถอนและใบรับเงินเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระเงินจำเลยทั้งสองผิดสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามเพียงบางส่วนและไม่เพิ่มมูลค่าโดยรวมของหุ้นที่จำนำไว้แก่โจทก์ทั้งสามให้มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ทั้งสามมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองเพิ่มมูลค่าหุ้นหลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.31 ถึง จ.38 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถเพิ่มมูลค่าหุ้นตามสัญญา โจทก์ทั้งสามจึงมีหนังสือขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 2.2 ภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยทั้งสองรับทราบแล้วต่อรองว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสามตามที่เรียกร้องถ้าโจทก์ทั้งสามยินยอมให้จำเลยทั้งสองไม่ต้องเพิ่มพูนค่าหุ้นให้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ ของหนี้ที่ค้างชำระโจทก์ทั้งสามตกลง แต่ครั้นถึงกำหนดจำเลยทั้งสองขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีกเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2539 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามรวมกันจำนวน 8,307,309.64 ดอลลาร์สหรัฐตามเอกสารหมาย จ.21 ในที่สุดจำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามโจทก์ทั้งสามจึงบังคับจำนำหุ้นที่เป็นหลักประกันทั้งหมดโดยขายทอดตลาดในราคาหุ้นละ 2.70 บาท ได้เงินมาหักชำระหนี้จำนวน 96,660,000 บาทคงเหลือหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,616,969.87 ดอลลาร์สหรัฐเห็นว่า โจทก์ทั้งสามมีพยานบุคคลและพยานเอกสารมาแสดงว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาโดยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามเพียงบางส่วนและไม่เพิ่มมูลค่าหุ้นที่จำนำไว้ให้มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ ของหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาเงินกู้ข้อ 17.3 ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งสามเพียงบางส่วนจริงและได้ขอผ่อนผันการชำระหนี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายขอชำระหนี้วันที่ 30 ธันวาคม 2539 แต่เมื่อถึงกำหนดก็ผิดนัดชำระหนี้อีก โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนำหุ้นได้ตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมีหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคม2539 ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสามภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ก่อนกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยทั้งสองผิดสัญญาโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ได้ตามสัญญา ข้อ 2.2 และเมื่อถึงกำหนดแล้วจำเลยทั้งสองขอผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปอีกเป็นวันที่ 30 ธันวาคม2539 โจทก์ทั้งสามก็ยอมผ่อนผันให้ ดังนี้จะถือว่าโจทก์ทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ได้ สำหรับการขายทอดตลาดหุ้นที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสามสมรู้กับบริษัทยูไนเต็ด คอสมอส โฮลดิ้ง จำกัด ซื้อขายหุ้นกันในราคาต่ำกว่าปกตินั้น ได้ความจากนางศุภางค์ วินทุพราหมณกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ทั้งสามว่าตั้งแต่เพิ่มทุนของบริษัทยูนิเวส แลนด์ จำกัด (มหาชน)ราคาหุ้นก็ลดลงเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2540 หุ้นมีราคาเพียง 2.70 บาท ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่งให้ระงับการซื้อขาย และปัจจุบันนี้หุ้นของบริษัทยูนิเวส แลนด์ จำกัด (มหาชน) ได้ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้ว คำเบิกความของนางศุภางค์ดังกล่าวสอดคล้องตรงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 หุ้นของบริษัทยูนิเวส แลนด์ จำกัด (มหาชน) มีราคาซื้อขายกันหุ้นละ 2.70 บาท ตามเอกสารหมาย ล.31 ถึง ล.44 ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสามขายทอดตลาดหุ้นของบริษัทยูนิเวส แลนด์ จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัทยูไนเต็ด คอสมอส โฮลดิ้งจำกัด ไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 ในราคาหุ้นละ 2.70 บาท จึงไม่ต่ำกว่าปกติ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามีบริษัท 3 แห่งขอซื้อหุ้นของบริษัทยูนิเวส แลนด์ จำกัด (มหาชน)ในราคาหุ้นละ 4.80 บาท แต่โจทก์ทั้งสามบ่ายเบี่ยงและสร้างเงื่อนไขในการซื้อขายหุ้นขึ้นมาโดยไม่จำเป็นทำให้ขายหุ้นไม่ได้ราคาดังกล่าวนั้นเห็นว่า หนังสือขอซื้อหุ้นตามเอกสารหมาย ล.25 ถึง ล.29 มีมูลค่าการซื้อขายจำนวนกว่า 100,000,000 บาท แต่ไม่มีรายละเอียดการชำระเงิน ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสามเสนอให้จำเลยทั้งสอง และผู้ขอซื้อหุ้นทำบันทึกข้อตกลงและเงื่อนไขการชำระราคาหุ้นตามเอกสารหมาย ล.32 จึงเป็นการป้องกันผลประโยชน์และเป็นการใช้สิทธิตามปกติทางการค้า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองเพียงเท่านี้ยังไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าโจทก์ทั้งสามกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสอง ทำให้ขายหุ้นไม่ได้ราคาดังกล่าวส่วนการขายทอดตลาดหุ้นได้ความว่าโจทก์ทั้งสามได้บอกกล่าวบังคับจำนำหุ้นให้จำเลยทั้งสองทราบ ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมายจ.23 ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 ก็ได้มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองว่าจะขายทอดตลาดหุ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2540 แต่เมื่อจำเลยทั้งสองขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดออกไปโจทก์ทั้งสามก็ยอมเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 14 มีนาคม 2540 โดยประกาศให้คนทั่วไปทราบทุกขั้นตอน ดังนี้จำเลยทั้งสองและบุคคลทั่วไปรวมทั้งบริษัทยูไนเต็ด คอสมอสโฮลดิ้ง จำกัด ย่อมมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะประมูลซื้อหุ้นรายนี้ การที่โจทก์ทั้งสามตกลงขายทอดตลาดหุ้นให้แก่บริษัทยูไนเต็ด คอสมอส โฮลดิ้ง จำกัด จึงรับฟังไม่ได้ว่ามีการสมรู้กัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินกู้และค่าธรรมเนียมทางกฎหมายในการบังคับจำนำหุ้นพร้อมดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่มีคำพิพากษายังไม่ถูกต้อง จึงสมควรแก้ไขในส่วนนี้”
พิพากษาแก้เป็นว่า การคิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง