แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของจำเลยข้อที่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพเพราะสงสาร เพื่อนที่ไปด้วยและพนักงานสอบสวนให้คำมั่นสัญญา ว่าจำเลยจะไม่ถูกลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพ ของจำเลย ต้องถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงชอบแล้ว ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา ของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษ ในความผิดตามคำพิพากษานั้น นอกจากต้องเป็น ผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อน หรือในวันที่ 11 กันยายน 2539 อันเป็นวันที่ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับด้วย เมื่อปรากฏว่า จำเลยถูกจำคุกครบกำหนดโทษและถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1 เม็ด น้ำหนัก 0.09 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่29 พฤศจิกายน 2539 จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ภายในเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า วางโทษจำคุกจำเลย 1 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 97 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 9 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อที่ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพเพราะสงสารเพื่อนที่ไปด้วยและพนักงานสอบสวนให้คำมั่นสัญญาว่าจำเลยจะไม่ถูกลงโทษจำคุกนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ต้องถือว่ามิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดครั้งก่อนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2538 และถูกปล่อยตัวก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครอบสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับจำเลยจึงได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว เห็นว่าตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลที่จะได้รับการล้างมลทินและถือว่าไม่เคยถูกลงโทษในความผิดตามคำพิพากษานั้น นอกจากต้องเป็นผู้ต้องโทษที่ได้กระทำผิดก่อนหรือในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แล้ว ยังต้องเป็นผู้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ 11 กันยายน 2539 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับด้วย จำเลยมิได้ระบุวันที่จำเลยพ้นโทษในคำฟ้องฎีกาของจำเลย แต่ปรากฏในหนังสือของทัณฑสถานบำบัดพิเศษธัญบุรี ที่ 1047/2539 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2539 เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 7 ของจำเลยเองว่า จำเลยถูกจำคุกครบกำหนดและถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2539 อันเป็นเวลาภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน