คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2016/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นาแปลงที่จำเลยบุกรุก โจทก์ร่วมได้โอนไปให้บุตรและบุตรไปแจ้ง ส.ค.1 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เจ้าของที่นาดังกล่าว ดังนั้นการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย
วันที่ 16 มี.ค. 99 จำเลยเข้าไปบุกรุกยกคันนา นายเชิดผู้เสียหาย (โจทก์ร่วมอีกคนหนึ่ง) ไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านผู้ใหญ่บ้านห้ามจำเลยจำเลยว่า “เป็นนาของนายเชิด ผมก็ไม่ทำ” ผู้ใหญ่บ้านถามนายเชิด โจทก์ร่วมว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป นายเชิดว่า” ถ้าเขาหยุดแล้วก็ไม่เอาเรื่อง” ต่อมาวันที่ 3 พ.ค. 99 จำเลยกลับเข้าไปหว่านข้าวในนานั้นอีก นายเชิดจึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านและอำเภอได้ดำเนินการสอบสวนคดีนี้ แสดงให้เห็นว่าถ้าจำเลยเชื่อฟังนายเชิดก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าไม่ฟังก็ต้องเอาเรื่องกันต่อไป ซึ่งเท่ากับให้งดรอการดำเนินคดีของเจ้าพนักงานไว้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อจำเลยกลับเข้าไปทำอีก ผู้เสียหายจึงเอาเรื่องคือให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีที่งดรอไว้นั้นเอง ไม่มีทางที่จะให้รับฟังว่าความผิดฐานบุกรุกตอนแรกในวันที่ 16 มี.ค. 99 นั้นเป็นอันสูญสิ้นไปแล้ว
คดีนี้ได้ความว่าจำเลยกระทำผิด 2 คราวคือในวันที่ 16 มี.ค. 99 กับในวันที่ 3 พ.ค. 99 และผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ไว้ทั้ง 2 คราว แต่ฟ้องโจทก์ระบุชัดเจนว่าผู้เสียหายร้องทุกข์สำหรับความผิดในตอนแรก (16 มี.ค. 99) เท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้กล่าวฟ้องถึงความผิดในตอนหลัง (3 พฤษภาคม 2499) เลย จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยสำหรับความผิดตอนหลังนี้ไม่ได้ แต่โจทก์มีสิทธิ์ที่จะนำสืบถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในตอนหลังคือในวันที่ 3 พฤษภาคม 2499 เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทำผิดคำรับรองในตอนต้น(16 มีนาคม 2499) ซึ่งเป็นข้อความที่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง หาเป็นนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่2/2501)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2499 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2499 เวลากลางวันจำเลยบังอาจบุกรุกที่ดิน โดยขุดดินทำคันนาและหว่านข้าวลงในที่นาของนางนาง นางด้วง และนายเชิด โดยจำเลยมีเจตนามิให้บุคคลดังกล่าวครอบครองเนื้อที่นาโดยปกติสุขและเพื่อจะถือเอาที่นานั้น และเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2499 ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ฟ้องร้องจำเลย ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 327

นางนาง นางด้วง นายเชิด ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 327 ให้ปรับ 50 บาท ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์

อัยการโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่นางนางและนางด้วงให้การรับว่าไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยโดยมอบนาแปลงนี้ให้ลูกเขยลูกสาวไปทำจนลูกเขยไปแจ้งแบบ ส.ค.1 แล้ว แสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งสองนี้ไม่ใช่เจ้าของที่นารายพิพาทเสียแล้วและไม่มีสิทธิอันใดที่จะร้องทุกข์แทนคนอื่น ดังนั้นการร้องทุกข์ของคนทั้งสองนี้จึงไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย ข้อหาของโจทก์ในเรื่องบุกรุกที่นาของนางนางและนางด้วง โจทก์ร่วมจึงเป็นอันตกไป

สำหรับข้อหาเรื่องบุกรุกที่นาของนายเชิดโจทก์ร่วมอีกคนหนึ่งนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 99 เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยได้เข้าไปบุกรุกยกคันนา นายเชิดออกไปห้ามก็ไม่ฟังจึงไปแจ้งความต่อนายนัยผู้ใหญ่บ้านหาว่าจำเลยรุกที่นา นายนัยห้ามจำเลย จำเลยว่า “เป็นนาของนายเชิดผมก็จะไม่ทำ” แล้วแบกจอบกลับไป นายนัยถามนายเชิดว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป นายเชิดว่า”ถ้าเขาหยุดแล้วก็ไม่เอาเรื่อง”

ต่อมาวันที่ 3 พ.ค. 99 จำเลยกลับเขาไปหว่านข้าวในนาแปลงนี้อีก นายเชิดจึงไปแจ้งความต่อนายนัย ๆ รายงานไปยังอำเภอ อำเภอจึงดำเนินการสอบสวนเป็นคดีเรื่องนี้

ศาลฎีกาปรึกษาในที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกรายนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 99 และนายเชิดผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว ที่นายเชิดตอบผู้ใหญ่บ้านว่า “ถ้าเขาหยุดแล้วก็ไม่เอาเรื่อง” แสดงให้เห็นความประสงค์ว่าถ้าจำเลยเชื่อฟังก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าขืนดื้อดึงเข้ามาทำอีกก็ต้องเอาเรื่องกันต่อไป ซึ่งเท่ากับให้งดรอการดำเนินคดีของเจ้าพนักงานไว้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นครั้นจำเลยกลับสัตย์ขืนเข้ามาหว่านข้าวอีกในวันที่ 3 พ.ค. 99 นายเชิดจึงเอาเรื่องโดยให้เจ้าพนักงานดำเนินคดีต่อไปก็คือเรื่องเดิมที่งดรอเอาไว้นั้นเอง ไม่มีทางที่จะให้รับฟังว่าความผิดฐานบุกรุกตอนแรกในวันที่ 16 มี.ค. 99 นั้นเป็นอันสูญสิ้นไปแล้ว

ความจริงการกระทำผิดของจำเลยในวันที่ 16 มี.ค. 99 และวันที่3 พ.ค. 99 นั้นผู้เสียหายอาจทำคำร้องทุกข์ได้ทั้ง 2 คราว แต่เรื่องนี้ฟ้องโจทก์ระบุชัดเจนว่าผู้เสียหายร้องทุกข์สำหรับความผิดในตอนแรกเท่านั้นโจทก์จึงไม่ได้กล่าวฟ้องถึงความผิดในตอนหลังคือความผิดในวันที่ 3 พ.ค. 99 นั้นเลย จะลงโทษจำเลยสำหรับความผิดตอนหลังนี้ไม่ได้ แต่การที่โจทก์นำสืบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในวันที่ 3 พ.ค. 99 เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทำผิดคำรับรองในตอนต้น (16 มี.ค. 99) นั้นเป็นการสืบเกี่ยวกับประเด็นโดยตรง

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะรายนายเชิดโจทก์ร่วมว่าจำเลยมีความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 327 ให้วางโทษปรับ 50 บาท ฯลฯ

Share