แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ในวันนัดสืบพยานโจทก์ อัยการในฐานะทนายจำเลยได้ไปป่วยท้องเดินอยู่ที่จังหวัดอื่น แต่ปรากฏว่าทนายจำเลยไม่ได้คิดเรื่องงานเลย ไม่ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังตัวความหรือผู้บังคับบัญชาทั้งเมื่อกลับมาทราบว่าศาลได้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวแล้วก็กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง 25 วัน จึงมายื่นขอพิจารณาคดีใหม่ ดังนี้เป็นการไม่เอาใจใส่ในหน้าที่และเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีนี้จึงต้องถือว่าการขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยจงใจ และไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อเครื่องสูบน้ำดับเพลิงให้โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงินค่าปรับในฐานผิดสัญญาโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์มิได้ผิดสัญญาและว่าฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม ในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดพิจารณา และพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 110,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ว่า เหตุที่ทนายจำเลยไม่มาศาลในวันสืบพยานเนื่องจากทนายจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัด ก่อนที่จะเดินทางกลับได้เกิดป่วยต้องพักรักษาตัว ไม่อาจเดินทางกลับมาได้ทัน ส่วนทนายจำเลยอีกคนหนึ่งนั้นย้ายไปรับราชการที่อื่นแล้วจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ถ้าหากจำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้วจำเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้องและพิจารณาคดีใหม่
โจทก์คัดค้านว่า ทนายจำเลยอ้างว่าป่วยนั้น ไม่เป็นความจริงทนายจำเลยบกพร่องหลงลืมวันนัดพิจารณา เป็นการจงใจขาดนัดพิจารณาขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2533 เวลา 13.30 นาฬิกาและทนายจำเลยได้ทราบกำหนดนัดวันสืบพยานโจทก์แล้ว การที่ทนายจำเลยอ้างว่าเดินทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2533ต่อมาวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2533 ได้เดินทางจากจังหวัดเพชรบูรณ์ไปที่สถานีรถไฟตะพานหิน เพื่อจะโดยสารรถไฟกลับกรุงเทพมหานครทนายจำเลยเกิดท้องเดินต้องไปพักรักษาตัวที่คลินิคของนายแพทย์สุขวัฒน์ ทัศนเอกจิต ซึ่งอยู่ที่หน้าตลาดเทศบาลเมืองพิจิตร จนถึงวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2533 เวลา 14นาฬิกา อาการดีขึ้นจึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23มกราคม 2533 มาปฏิบัติราชการได้ตรวจสมุดนัดความจึงทราบว่าไม่ได้มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นั้น เห็นว่า แม้เหตุดังกล่าวจะเป็นความจริงดังที่ทนายจำเลยอ้างก็ตามทนายจำเลยก็เป็นพนักงานอัยการย่อมรู้กฎหมายและกระบวนวิธีพิจารณาคดีของศาลดีว่า ความสำคัญของผลคดีที่ขาดนัดพิจารณานั้นเป็นอย่างไร เมื่อทนายจำเลยเองทราบว่าในเช้าวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2533 ตนเองมาปฏิบัติราชการไม่ได้ก็น่าจะขวนขวายดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โทรศัพท์ถามไปยังจำเลยตัวความ หรือโทรศัพท์ไปยังหัวหน้าพนักงานอัยการกองคดีแพ่ง(กอง 5) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้ช่วยตรวจสอบว่า มีคดีที่ตนรับผิดชอบนัดพิจารณาในวันนั้นหรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการขอเลื่อนหรือแก้ไขต่อไป แต่ทนายจำเลยก็หาได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ทั้งที่ได้ความจากคำเบิกความของทนายจำเลยเองว่าที่คลินิคที่ทนายจำเลยพักรักษาตัวอยู่นั้นก็มีโทรศัพท์ ทนายจำเลยไม่ได้โทรศัพท์แจ้งให้ทางที่ทำงานทราบ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของทนายจำเลยอีกว่าทนายจำเลยไม่ได้คิดเรื่องงานเลย ประกอบกับเมื่อทนายจำเลยทราบวันเวลานัดในวันที่ 23 มกราคม 2533 แล้วทนายจำเลยน่าจะกระตือรือร้นรีบยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยเร็วแต่กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปประมาณ 25 วัน ทนายจำเลยมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ในการต่อสู้คดีของตัวความ การที่ทนายจำเลยไม่ขวนขวายดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งและปล่อยปละละเลยดังกล่าวมา จึงเป็นการไม่เอาใจใส่ในหน้าที่และเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าการขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ได้เสมอศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องจำเลยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน