แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประเทศไทยมีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศจำเลยให้สัมภาษณ์และลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับกองทัพโดยมิได้ระบุเจาะจงว่าเป็น กองทัพใด ข้อความที่เกี่ยวกับอาวุธปืนใหญ่ก็มีไว้ใช้ในกองทัพใดก็ได้ส่วนการซื้อเครื่องบิน รถถังและอาวุธต่าง ๆก็ไม่ได้หมายความถึงกองทัพบกโดยเฉพาะ และที่ว่าซื้อมาแล้วก็มากองที่สระบุรี ก็มีความหมายว่า ของที่กองทัพซื้อมาถูกทอดทิ้งไว้ที่จังหวัดสระบุรี ถึงแม้ในจังหวัดสระบุรีจะมีหน่วยงานกองทัพบกเท่านั้น ก็จะตีความหมายเลยไปถึงว่าเป็นกองทัพบกไม่ได้ ดังนั้น จะถือว่าจำเลยใส่ความหมิ่นประมาทกองทัพบกโดยเฉพาะหาได้ไม่ กองทัพบกจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหมิ่นประมาทกองทัพบกผู้เสียหายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารในหนังสือพิมพ์ข่าวกรองว่า”กองทัพไม่มีใครทำลายได้นอกจากคนในกองทัพเอง ลองดูซิในกองทัพมีอะไรบ้างที่ทำลายตัวเอง นายทหารที่อยู่ในระดับต่าง ๆ ของกองทัพมีพฤติกรรมอย่างไรบ้างที่ทำลายความเชื่อถือของประชาชนยืนยันว่าในกองทัพไม่มีคอร์รัปชั่น ผมจะยกตัวอย่างให้ดูกรณีหนึ่งคือในกรณีโรงงานประกอบปืนใหญ่ที่ซื้อมาจากออสเตรีย ผมทราบว่าราคาจริงมัน 160 ล้านบาท แต่ซื้อมา 300 ล้านบาท แต่ซื้อมาแล้วก็มากองที่สระบุรีไม่ได้มาใช้ประโยชน์อะไรเลยอย่างนี้คอร์รัปชั่นไหม นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว” การใส่ความดังกล่าวจึงเป็นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ข่าวกรองฉบับที่มีข้อความหมิ่นประมาทตามฟ้อง และให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นเวลา 3 วัน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ข่าวกรอง ฉบับที่มีข้อความหมิ่นประมาทตามฟ้อง และให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาในคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จำนวน 3 ครั้ง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง หนังสือพิมพ์ข่าวกรองปีที่ 5 ฉบับที่ (45) 301ประจำวันที่ 11 ถึง 20 กรกฎาคม 2534 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา ได้ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์มีข้อความตอนหนึ่งว่า กองทัพไม่มีใครทำลายได้ นอกจากคนในกองทัพเอง ลองดูซิในกองทัพมีอะไรบ้างที่ทำลายตัวเอง นายทหารที่อยู่ในระดับต่าง ๆ ของกองทัพมีพฤติการณ์อย่างไรบ้างที่ทำลายความเชื่อถือของประชาชน ยืนยันว่าในกองทัพไม่มีคอร์รัปชั่นผมจะยกตัวอย่างให้ดูกรณีหนึ่งคือ ในกรณีโรงงานประกอบปืนใหญ่ที่ซื้อมาจากออสเตรีย ผมทราบว่าราคาจริงมัน 160 ล้านบาทแต่ซื้อมา 300 ล้านบาท แต่ซื้อมาแล้วก็มากองที่สระบุรีไม่ได้มาใช้ประโยชน์อะไรเลย อย่างนี้คอร์รัปชั่นไหมนี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว และมีข้อความกล่าวถึงการซื้อเครื่องบินรถถังและอาวุธต่าง ๆ อีกด้วย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกา โจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทดังคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประเทศไทยมีกองทัพรวม 3 กองทัพคือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เมื่อข้อความที่จำเลยที่ 1ให้สัมภาษณ์และลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวกรองเกี่ยวกับกองทัพมิได้ระบุเจาะจงว่าเป็นกองทัพใด และเกี่ยวกับอาวุธปืนใหญ่ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นมากล่าวเป็นตัวอย่างนั้น ก็น่าจะมีไว้ในกองทัพใดก็ได้ นอกจากนั้น จำเลยที่ 1 ยังกล่าวถึงการซื้อเครื่องบินรถถังและอาวุธต่าง ๆ อีกด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากล่าวถึงกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวโดยหาได้หมายความถึงกองทัพบกโดยเฉพาะเท่านั้นไม่ ทั้งคำกล่าวของจำเลยที่ 1ที่ว่า “แต่ซื้อมาแล้วก็มากองที่สระบุรี ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย”ก็มีความหมายชัดแจ้งแล้วว่า ของที่กองทัพซื้อมาถูกทอดทิ้งไว้ที่จังหวัดสระบุรี ถึงแม้ในจังหวัดสระบุรีจะมีหน่วยงานกองทัพบกเท่านั้น ไม่มีหน่วยงานกองทัพเรือและหน่วยงานกองทัพอากาศดังโจทก์ฎีกาก็ตาม ก็จะตีความหมายเลยไปถึงกองทัพที่จำเลยที่ 1 กล่าวถึงว่าเป็นกองทัพบกเท่านั้นหาได้ไม่ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 กล่าวถึงกองทัพบุคคลธรรมดาทั่วไปย่อมไม่อาจเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงกองทัพใดจะถือว่าจำเลยที่ 1 ใส่ความกองทัพบกโดยเฉพาะหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทกองทัพบกดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น กองทัพบกจึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน