คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ขอให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมว่าจำเลยยอม ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้ กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) เพราะผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกมิได้ถูกฟ้องและมิได้ตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ผู้ร้องจะเป็นบริวารจำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมไม่อาจอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมมาบังคับแก่ผู้ร้องได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2535 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยได้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2535 โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในวันที่ 21 ตุลาคม 2535ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด
ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2535 โจทก์ยื่นคำร้องขอว่าจำเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี วันที่ 17 ธันวาคม 2535ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่บริวารของจำเลย จำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินและบ้าน ขอให้งดการบังคับคดีและยกคำร้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามไม่ใช่เป็นเรื่องร้องขัดทรัพย์ และไม่ใช่ฟ้องเรื่องแสดงอำนาจพิเศษตามมาตรา 142(1) ไม่มีเหตุที่จะให้งดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 ไม่จำต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องทั้งสามว่า มีเหตุที่จะต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายขอให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) เพราะผู้ร้องทั้งสามมิได้ตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยผู้ร้องทั้งสามจะเป็นบริวารจำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมไม่อาจอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้มาบังคับแก่ผู้ร้องทั้งสามได้ประกอบกับคำร้องของผู้ร้องทั้งสามก็กล่าวอ้างว่าจะดำเนินคดีขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยต่อไปจึงไม่มีเหตุที่จะต้องทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งสามที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share