แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222
โจทก์ซึ่งเป็นพยาบาลลงชื่อและเวลามาทำงานไว้ในสมุดบัญชีลงนามมาทำงานของข้าราชการโรงพยาบาล แต่ไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเสมียนการเงินเขียนข้อความต่อเติมว่า’ให้มันยุติธรรมหน่อย’และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการมีหน้าที่รับผิดชอบงานของโรงพยาบาลชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องต่อความจริงได้ขีดฆ่าลายมือชื่อและเวลามาทำงานของโจทก์ จึงไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนจำเลยทั้สองจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
ย่อยาว
คดีสองสำนวนโจทก์ฟ้องใจความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน โจทก์เป็นพยาบาล จำเลยที่ 1 เป็นเสมียนการเงิน จำเลยที่ 2 เป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมเอกสารราชการโดยจำเลยที่ 2 ใช้ปากกาขีดฆ่าชื่อและเวลามาทำงานของโจทก์ ในบัญชีลงนามมาทำงานของข้าราชการ ส่วนจำเลยที่ 1 ได้เติมข้อความว่า “ให้มันยุติธรรมหน่อย”ลงในเอกสารดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เพียงแต่ลงชื่อและเวลามาทำงานของตนในสมุดบัญชีลงนามมาทำงานของข้าราชการโรงพยาบาลอาจสามารถเท่านั้น ไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาล แล้วจำเลยที่ 1 ได้เขียนข้อความต่อเติมว่า “ให้มันยุติธรรมหน่อย” และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขีดฆ่าลายมือชื่อและเวลามาทำงานของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ลงชื่อและเวลามาทำงานไว้ แต่มิได้อยู่ปฏิบัติงานเลยเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานของโรงพยาบาลจึงชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องต่อความจริงได้ จึงไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิดฐานปลอมเอกสารราชการ
พิพากษายืน