คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3944/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์แวดล้อมกรณีที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายไปรับจำเลยที่ 1 ณ ปั๊มน้ำมันที่เกิดเหตุตามเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนด โดยไม่ยอมเปลี่ยนสถานที่ แม้โจทก์ร่วมจะได้ขอเปลี่ยนแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 บอกให้โจทก์ร่วมนำเอาทรัพย์ไปมาก ๆ และคนร้ายรู้ข้อมูลต่าง ๆ โดยละเอียดจากจำเลยที่ 1ประกอบกับใจความในจดหมายที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นร่วมแผนการณ์กับคนร้ายในการปล้นเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมและแบ่งหน้าที่มาทำบางส่วน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับคนร้าย จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีอาวุธปืนในการปล้นทรัพย์เท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นรายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อปรากฏว่าพวกของจำเลยที่ 1 อีก 2 คนมีอาวุธปืนในการปล้นส่วนจำเลยที่ 1 เพียงแต่รู้เห็นในการปล้น จำเลยที่ 1 มิได้มีอาวุธปืนในการปล้นแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 340 ตรี.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี มาตรา 357
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสุวดี บูรณะบุตร ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำคุก 8 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 6 ปี ริบกุญแจมือของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง จำคุก 20 ปี จำเลยที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำเลยที่ 4มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จำคุก 30 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของโจทก์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 เวลา 9 นาฬิกาเศษ คนร้าย 3 คน คนหนึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจยศร้อยตำรวจโท ร่วมกันปล้นเครื่องเพชรพลอยต่าง ๆหลายรายการ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง รวมเป็นเงิน 11,666,700 บาทกระเป๋า 2 ใบ ราคา 2,000 บาท และเช็คเงินสดของธนาคารกรุงเทพ จำกัด1 ฉบับ ของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายอื่นอีกหลายคน กับนาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโก 1 เรือน ราคา 1,150 บาท ของพันจ่าอากาศเอกสมศักดิ์เชาวนะ ไปโดยทุจริต โดยคนร้ายใช้ปืนสั้นและมีดปลายแหลมเป็นอาวุธขู่บังคับ กับใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมและพันจ่าอากาศเอกสมศักดิ์ ไว้คนละข้างติดกัน และคนร้ายอีก 1 คน ได้ใช้รถยนต์ 1 คัน เป็นพาหนะในการขับพาคนร้าย 3 คนแรกและทรัพย์ที่ปล้นได้หลบหนีไป
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1ได้กระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีโจทก์ร่วมเป็นพยานสำคัญเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 คบค้ากับโจทก์ร่วมมาก่อนจึงทราบดีว่าโจทก์ร่วมมีสร้อยคอมรกต ราคาประมาณ 800,000 บาท และเครื่องประดับต่าง ๆ ไว้จำหน่ายจำนวนมากวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมนำสร้อยคอมรกต ไปจำหน่ายให้นางปิยะวรรณหรือน้องที่บ้าน ซอยสุขุมวิท 67 แต่เมื่อไปถึงไม่พบนางปิยะวรรณ จำเลยที่ 1 ได้อ้างว่านางปิยะวรรณมีธุระด่วนออกจากบ้านไปก่อน นัดให้มาใหม่วันรุ่งขึ้น วันที่13 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมให้นำสร้อยคอมรกตและเครื่องประดับต่าง ๆ ไปมาก ๆ อ้างว่านางปิยะวรรณเป็นคนมีเงินจำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมไปรับที่ปั๊มน้ำมันปิโตเลียมรามอินทรา ซึ่งโจทก์ร่วมเคยไปรับจำเลยที่ 1 ณ ที่นั้นมาก่อนโจทก์ร่วมขอเปลี่ยนไปรับจำเลยที่ 1 ที่ร้านแน๊ต ข้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำเลยที่ 1 ไม่ยอมยืนยันขอให้ไปรับจำเลยที่ 1 ที่ปั๊มน้ำมันดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงจำยอมตาม เมื่อรถยนต์โจทก์ร่วมแล่นเข้าไปจอดในปั๊มน้ำมันยังไม่ทันได้ดับเครื่องยนต์ คนร้าย 3 คน ซึ่งคนหนึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจยศร้อยตำรวจโทเข้ามาใช้อาวุธปืนและมีดขู่ บังคับปล้นเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทันที นอกจากคนร้ายจะดึงเอากระเป๋าหนังบรรจุทรัพย์สินมีค่าของโจทก์ร่วมที่นำติดตัวไปด้วยแล้ว คนร้ายยังได้เอากุญแจรถยนต์ไปไขเปิดกระโปรงท้ายรถเอากระเป๋าผ้าบรรจุทรัพย์สินมีค่าของโจทก์ร่วมไปด้วย แสดงให้เห็นว่าคนร้ายได้ล่วงรู้สถานที่และเวลานัดหมายตลอดจนทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมนำไปทั้งหมด จึงได้มีการวางแผนมาดักปล้นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปได้เป็นมูลค่าถึง 11 ล้านบาทเศษ ข้อมูลที่คนร้ายล่วงรู้มาและทำการปล้นทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปได้นี้นอกจากจำเลยที่ 1 แล้วไม่มีเหตุที่จะสงสัยว่าคนร้ายได้ข้อมูลมาจากบุคคลอื่น เพราะโจทก์ร่วมยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้โทรศัพท์นัดสถานที่และเวลากับโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมมิได้บอกให้พันจ่าอากาศเอกสมศักดิ์ รู้ล่วงหน้าแต่อย่างใด และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมด้วยว่า นายอู๊ด ลำปางนักโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้มอบเอกสารหมาย จ.13 แก่โจทก์ร่วมโดยบอกว่าเป็นจดหมายของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงนายอู๊ด…และข้อความในเอกสารหมาย จ.13 ที่ว่า เรื่องของพี่จะสืบโจทก์วันที่ 24วันศุกร์ หน้านี้ ก็ตรงกับข้อเท็จจริงในสำนวนซึ่งนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันศุกร์ ที่ 24 กันยายน 2525 ประกอบกับอักษรที่เขียนในเอกสารหมาย จ.13 ก็มีลักษณะเหมือนกับอักษรที่เขียนในหนังสือรับแหวนจากโจทก์ร่วมเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นลายมือเขียนของตนเอง การเปรียบเทียบอักษรที่เขียนในเอกสารหมาย จ.13ว่ามีลักษณะเหมือนกับอักษรที่เขียนในเอกสารหมาย จ.12 หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ศาลสามารถตรวจเห็นได้เองไม่จำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แต่อย่างใด พฤติการณ์แวดล้อมกรณีที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดโจทก์ร่วมไปรับจำเลยที่ 1 ณ ปั๊มน้ำมันที่เกิดเหตุตามเวลาที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยไม่ยอมเปลี่ยนสถานที่แม้โจทก์ร่วมจะได้ขอเปลี่ยนแล้วทั้งจำเลยที่ 1 บอกให้โจทก์ร่วมนำเอาของไปมาก ๆ และคนร้ายรู้ข้อมูลต่าง ๆ โดยละเอียดจากจำเลยที่ 1 ประกอบกับใจความในเอกสารหมาย จ.13 ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนดังวินิจฉัยแล้วย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นร่วมแผนการณ์กับคนร้ายในการปล้นเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วม และแบ่งหน้าทีมาทำบางส่วนอันเป็นการร่วมกระทำผิดด้วยกันกับคนร้าย จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการต้องระวางโทษ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดโดยทราบดีว่าพวกของจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยในการปล้น จึงควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ด้วยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษหนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีอาวุธปืนในการปล้นทรัพย์เท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมกระทำการปล้นรายเดียวกันจะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าพวกของจำเลยที่ 1 อีก 2 คนมีอาวุธปืนในการปล้นส่วนจำเลยที่ 1 เพียงแต่รู้เห็นร่วมแผนการณ์และเป็นตัวการร่วมกับคนร้ายในการปล้น จำเลยที่ 1 มิได้มีอาวุธปืนในการปล้นแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา340 ตรี
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีว่า จำเลยที่ 4ได้กระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมาหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนร้ายที่กระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมา
พิพากษายืน.

Share