แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามฐานความผิดเป็นกระทง ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน 5 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยปลอมหนังสือเดินทางซึ่งเป็นเอกสารราชการของกระทรวงต่างประเทศ และจำเลยได้ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุตประเทศเลบานอน แล้วประทับรอยตราปลอมดังกล่าวลงในหนังสือเดินทางที่จำเลยปลอมขึ้น อันเป็นการปลอมหนังสือเดินทางทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์ดังเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท คือมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 กับมาตรา 251 กระทงหนึ่ง ต่อมาเมื่อจำเลยนำหนังสือเดินทางที่จำเลยทำปลอมขึ้นและมีรอยตราปลอมประทับดังกล่าวไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจประทับตราเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวม 3 ครั้ง แม้จะเป็นการใช้ในลักษณะเดียวกัน แต่ก็เป็นการใช้คนละเวลาคนละครั้งต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 251 ประกอบด้วยมาตรา 252 แต่เนื่องจากมาตรา 263 บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา 251 ได้กระทำผิดตามมาตรา 252 ด้วยให้ลงตามมาตรา 251 กระทงเดียว ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นผู้ทำรอยตราปลอมอันเป็นความผิดตามมาตรา 251 และได้ใช้รอยตราปลอมนั้นอันเป็นความผิดตามมาตรา 252 รวม 3 ครั้ง ในการใช้ครั้งแรกจำเลยทำรอยตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา 251 ประกอบด้วยมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สองและครั้งที่สามจำเลยมิได้ปลอมรอยตราขึ้นอีก คงใช้รอยตราปลอมอันเก่านั้นเอง จึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมอย่างเดียวตามมาตรา 252 อีก 2 กระทง รวมทั้งสิ้น 3 กระทง ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ขึ้นมา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ (หมายเหตุ วรรค 2 วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2529)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๑, ๒๕๒, ๒๖๓, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๑, ๒๕๒, ๒๖๓, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา ๒๖๘ จำเลยกระทำผิด ๓ กระทง ให้ลงโทษกระทงละ ๒ ปี รวมจำคุก ๖ ปี ฐานปลอมดวงตราและใช้ ดวงตราปลอมให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๑ ลงโทษกระทงละ ๓ ปี รวม ๓ กระทง เป็นจำคุก ๙ ปี รวมจำคุก ๑๕ ปี ลดโทษให้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะวินิจฉัยว่าคดีใดชอบที่จะห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ชอบที่จะพิจารณาในฐานความผิดเป็นกระทง ๆ ไป คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดรวม ๖ กระทง ซึ่งแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน ๕ ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยจ้างให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำหนังสือเดินทางดังกล่าวให้ โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ไปติดต่อกับทางราชการด้วยตนเอง จำเลยไม่ทราบว่าหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางปลอม และขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบา เห็นว่าล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมา และในการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าคำฟ้องโจทก์ แม้จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดรวม ๖ กระทง แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่าจำเลยได้ปลอมหนังสือเดินทางประเทศไทยซึ่งเป็นเอกสารราชการของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และจำเลยได้ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนอันเป็นส่วนราชการของกระทรวงการต่างประเทศแล้วประทับรอยตราปลอมดังกล่าวลงในหนังสือเดินทางประเทศไทยที่จำเลยทำปลอมขึ้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกระทำของจำเลยในขั้นตอนที่ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน แล้วเอารอยตราปลอมนั้นไปประทับลงในหนังสือเดินทางปลอม ก็เพื่อให้หนังสือเดินทางที่จำเลยทำขึ้นมีลักษณะข้อความและรอยตราที่ประทับเหมือนของจริง เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดพบเห็นจะให้หลงเชื่อและเข้าใจว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริง อันเป็นการปลอมหนังสือเดินทางทั้งฉบับให้สำเร็จสมบูรณ์ดังเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบทอันมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๕ กับมาตรา ๒๕๑ กระทงหนึ่ง ต่อมาเมื่อจำเลยนำหนังสือเดินทางที่จำเลยทำปลอมขึ้นและมีรอยตราปลอมประทับดังกล่าวไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจประทับตราเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรรวม ๓ ครั้ง แม้จะเป็นการใช้ในลักษณะเดียวกัน แต่ก็เป็นการใช้คนละเวลาคนละครั้งต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๕๑ ประกอบด้วยมาตรา ๒๕๒ แต่เนื่องจากมาตรา ๒๖๓ บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำผิดตาม……………………มาตรา ๒๕๑……………………….ฯลฯ………………………. ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตาม………………. มาตรา ๒๕๑ …………………ฯลฯ……………………แต่กระทงเดียว ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้ทำอยตราปลอมอันเป็นความผิดตามมาตรา ๒๕๑ และได้ใช้รอยตราปลอมนั้นอันเป็นความผิดตามมาตรา ๒๕๒ รวม ๓ ครั้ง ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ในการใช้ครั้งแรกจำเลยทำรอยตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา ๒๕๑ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๓ กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สองและครั้งที่สามจำเลยมิได้ปลอมรอยตราขึ้นอีก คงใช้รอยตราปลอมอันเก่านั้นเอง จึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมอย่างเดียวตามมาตรา ๒๕๒ อีก ๒ กระทง รวมทั้งสิ้น ๓ กระทง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยรวม ๖ กระทงจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ขึ้นมา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำเอกสารปลอมและทำรอยตราปลอมตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๕๑ กระทงหนึ่งซึ่งโทษตามมาตรา ๒๕๑ เป็นบทหนัก กับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้รอยตราปลอมครั้งแรก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๕๒ อีกด้วย ซึ่งโทษตาม มาตรา ๒๕๒ เป็นบทหนัก ตามมาตรา ๒๖๓ บัญญัติให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๑ กระทงเดียว คงจำคุกจำเลย ๓ ปี กับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้รอยตราปลอมอีก ๒ ครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๕๒ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๒ ซึ่งเป็นบทหนักตามอัตราโทษในมาตรา ๒๕๑ รวม ๒ กระทง กระทงละ ๓ ปี รวมโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้น ๙ ปี ลดโทษให้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์