คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะประสพการขาดทุนจำนวนมากติดต่อกันแม้ไม่ได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้าก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินบำเหน็จฯยอดเงินที่พนักงานจะได้รับคือยอดเงินที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ลบด้วยเงินทุกชนิดที่จำเลยต้องจ่ายให้พนักงานตามกฎหมายก่อนเงินบำเหน็จของโจทก์จึงต้องถูกลบด้วยค่าชดเชยซึ่งเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายตามกฎหมายเมื่อค่าชดเชยมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีก.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณา โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับสำนวน
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิม หากไม่รับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยปฏิบัติถูกต้องตามก3ฎหมายและโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ประการแรกว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิด ที่จำเลยอ้างว่าประสพภาวะการขาดทุนในปี พ.ศ. 2526 และ 2527 ไม่เป็นความจริงความจริงนั้นจำเลยยังมีกำไรสะสมในปี พ.ศ. 2526 เป็นเงินสามสิบหกล้านบาทเศษ กับในปี พ.ศ. 2527 เป็นเงินเจ็ดล้านบาทเศษ และเม้จะมีการขาดทุนตามงบดุลก็มิใช่เหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายนั้นปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2525 จำเลยมีกำไรสะสมอยู่ 36,000,421 บาท แต่ต้องจัดสรรไว้ในอัตราหนึ่งในยี่สิบส่วนของผลกำไร เป็นทุนสำรอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 จำเลยขาดทุนเป็นเงิน 28,454,121 บาท เมื่อหักกับเงินทุนสำรองที่มีอยู่ 7,546,300 บาท แล้วจึงฟังได้ว่าในปีพ.ศ. 2526 ประสพกับการขาดทุน ในปี พ.ศ. 2527 จำเลยขาดทุนอีก14,275,802 บาท ตามงบกำไรขาดทุนและกำไรสะสมสำหรับในปี พ.ศ. 2526และ 2527 คงมียอดขาดทุนสะสม 6,729,502 บาท ซึ่งแสดงว่าจำเลยประสบการขาดทุนตลอดมา และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528 เช่นนี้กรณีจึงหาใช่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายดังอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ การที่จำเลยประสพการขาดทุนจำนวนมาก เป็นเวลาติดต่อกันตลาดมาเช่นนี้จำเลยย่อมมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแผนการดำเนินธุรกิจของตนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่กำลังประสพอยู่นั้น จึงต้องกระทำการลดรายจ่ายของจำเลยเป็นเบื้องต้น โดยไม่จำต้องประกาศให้ทราบล่วงหน้า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานกลางหาได้วินิจฉัยพยานหลักฐานขัดต่อกฎหมายดังอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไม่
ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า เงินบำเหน็จเป็นเงินที่อยู่ในระเบียบข้อบังคับของจำเลยนอกเหนือจากเงินที่ต้องจ่ายตามกฎหมายและเป็นส่วนหนึ่งแห่งสภาพการจ้าง เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินนอกเหนือจากค่าชดเชย เมื่อจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จสำหรับผู้เกษียณอายุ ผู้ลาออกและผู้ไร้ความสามารถตามเอกสารหมายจ.7 ข้อ 6.3 กำหนดไว้ว่า ภายใต้เงื่อนไขในระเบียบนี้ยอดเงินผลประโยชน์สุทธิที่พนักงานจะได้รับ คือยอดเงินที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ลบด้วยยอดเงินใด ๆ ที่บริษัทออกสมทบหรือจ่าย (ไม่ใช่ในลักษณะเบี้ยประกัน) ให้แก่โครงการกองทุนหรือแผนงานที่กฎหมายกำหนดไว้เกี่ยวกับเงินบำเหน็จหรือผลประโยชน์เมื่ออกจากงานและจำนวนเงินทุกชนิดที่บริษัทจะต้องสมทบหรือจ่ายให้พนักงานตามกฎหมาย ซึ่งมีความหมายว่าแม้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ก็ตามก็ยังคงต้องถูกบังคับตามข้อ 6.3 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นว่าเงินบำเหน็จของโจทก์ทั้งสองต้องถูกลบหรือหักด้วยจำนวนเงินทุกชนิดที่จำเลยต้องจ่ายให้พนักงานตามกฎหมาย ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายตามกฎหมายตามนัยระเบียบของจำเลยดังกล่าว จึงต้องนำค่าชดเชยมาลยออกจากเงินบำเหน็จที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับ เมื่อค่าชดเชยมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จเช่นนี้ โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีก
พิพากษายืน.

Share