คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3939/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายการเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์ที่ยึดนั้นคำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 3หมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายสูงเกินกว่าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต่อโจทก์ ขอให้เพิกถอนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ให้มีราคาไม่สูงเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระเงิน จำนวน 450,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2537 ถึงวันชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2537 ต้องไม่เกิน2,812.50 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 85 ไร่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไร่ละ 200,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 17,000,000 บาท ต่อมาโจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วโจทก์ไม่ประสงค์จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ต่อไป
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายอย่างไรเห็นว่า การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือ จำหน่าย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลจากการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีกฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีแต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฎิบัติ ในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง การแปลความให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกยึดทรัพย์สิน ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือ จำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึด ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี
พิพากษากลับเป็นว่า ให้คิดค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดแต่ไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจากจำเลยที่ 1

Share