คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่งพยานโจทก์และจำเลยเบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยเป็นตัวแทนเจ้าของเรือตรงตามความหมายของคำว่า”ตัวแทน”ตามมาตรา3แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวจำเลยจึงมิใช่ผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องห้ามตามมาตรา248วรรคหนึ่งดังกล่าว ในคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเช่นในคดีนี้การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน การใช้กฎหมายปรับแก่คดีนั้นต้องใช้กฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อพิพาทปรับแก่คดีขณะเกิดเหตุข้อพิพาทคดีนี้ในปี2533พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534ยังมิได้ประกาศใช้จึงนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้หาได้ไม่ข้อพิพาทคดีนี้เกิดจากการรับขนของทางทะเลกรณีจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา609วรรคสองซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทมาปรับแก่คดีแต่เนื่องจากขณะนั้นไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลบังคับใช้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา609วรรคสองทั้งไม่ปรากฎจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าวจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ3ลักษณะ8รับขนมาตรา618อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา4วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยในฐานผู้ร่วมขนส่งทอดสุดท้ายต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าในระหว่างการขนส่งทางทะเลหลายคนหลายทอด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534 โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จึงรับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่งมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน55,799.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน53,820 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เจ้าของเรือแต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนในการทำพิธีการเรือ คือรายงานเรือเข้าออกต่อกรมเจ้าท่า กรมศุลกากรกองตรวจคนเข้าเมือง และการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพิธีการเรือแทนเท่านั้น จำเลยไม่เคยรับจ้างจากสายเดินเรือให้เข้าร่วมขนส่งอีกทอดหนึ่งและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้า จัดหาเครื่องมือขนถ่ายสินค้าและว่าจ้างกรรมกรขนถ่ายสินค้า ความเสียหายของสินค้าพิพาทมิได้เกิดในระหว่างการขนส่งทางทะเลเพราะสินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในตู้สินค้า(ตู้คอนเทนเนอร์) โดยผู้ส่งสินค้าเป็นผู้บรรจุ ตรวจนับสินค้า และผนึกดวงตราปากตู้สินค้าผู้ขนส่งไม่ได้ร่วมรับรู้หรือเกี่ยวข้องด้วยหรือที่เรียกว่า ชิปเปอร์ โหลด แอนด์ เคานท์ แอนด์ ซิลขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 46,699.60 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2534จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 48,379.52 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง พยานโจทก์และจำเลยเบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยเป็นตัวแทนเจ้าของเรือตรงตามความหมายของคำว่า “ตัวแทน” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว จำเลยจึงมิใช่ผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า จะนำพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาปรับแก่คดีนี้ได้หรือไม่ ในคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเช่นในคดีนี้การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเหตุที่สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากการขนส่งเกิดขึ้นในปี 2533 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534และได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2534 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่ 21 กุมภาพันธ์2534 เห็นว่า การใช้กฎหมายปรับแก่คดีนั้นต้องใช้กฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อพิพาทปรับแก่คดี ขณะเกิดเหตุข้อพิพาทคดีนี้ในปี 2533 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังมิได้ประกาศใช้ จึงนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้หาได้ไม่ข้อพิพาทคดีนี้เกิดจากการรับขนของทางทะเล กรณีจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทมาปรับแก่คดี แต่เนื่องจากขณะนั้นไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลบังคับใช้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209วรรคสอง ทั้งไม่ปรากฎจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าวจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขนมาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง
พิพากษายืน

Share