คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3926/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยเพื่อใช้เป็นทางเดินให้รถยนต์เข้าออกได้ ปักเสาพาดสายไฟฟ้าท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่น ๆ อีกผ่านโดยตลอดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภารจำยอม การที่จำเลยที่ว่าจ้างให้ทำ โครงเหล็กวางพาดสายไฟและติดหลอดไฟฟ้าเพื่อให้มีแสงสว่างแบบถาวร แม้จะเกินความจำเป็นไปบ้างแต่ก็เป็นการใช้สิทธิของเจ้าของสามทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387ส่วนจะเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์หรือไม่นั้นต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือเข้าไปเพื่อถือครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกห้าคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างโครงเหล็กคร่อมเหนือทางเข้าออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 31377 อันเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาววิไล หันหาบุญ ผู้เสียหาย เพื่อถือการครอบครองที่ดินดังกล่าวแต่เพียงบางส่วน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365(2)(3)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาววิไล หันหาบุญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 6 เดือนและปรับ 1,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์การกระทำผิดซึ่งไม่ร้ายแรงโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 31377 ตำบลหลักสองอำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของนายสงวน ดวงดารา กับนายประยงค์ หันหาบุญ เมื่อวันที่ 28มิถุนายน 2528 นายสงวนและนายประยงค์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวของตนตกเป็นภาระจำยอมเรื่องทางเดินและให้รถยนต์เข้าออกได้และปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่น ๆผ่านโดยตลอดตามรูปแผนที่หมายสีแดงด้านทิศใต้กว้างประมาณ 8 เมตรยาวเต็มเนื้อที่แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6124, 6125, 70942 ถึง 70958ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร รวม 9 โฉนด ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเจริญ กระจ่างตา โดยนายเจริญยอมให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 310,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภารจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.4 ต่อมานายเจริญขายที่ดินทั้ง 9 โฉนดให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2529 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 ต่อมานายสงวนได้ยกที่ดินส่วนของตนให้แก่นางหรุ่น หันหาบุญ แล้วนายประยงค์กับนางหรุ่นได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 31377 ให้แก่โจทก์ร่วมบางส่วนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 120799 เนื้อที่ 1 งาน 20 ตารางวา เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ร่วมนี้ติดภาระจำยอมเดิมแก่ที่ดินของจำเลยทั้ง 9 โฉนดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.4ที่ดินของโจทก์ร่วมจึงเป็นที่ดินภารยทรัพย์แก่ที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นที่ดินสามยทรัพย์ตามเดิม ปรากฏตามโฉนดที่ดินเลขที่ 120799เอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 และแผ่นที่ 5 เมื่อวันที่ 3 ถึงวันที่ 5มิถุนายน 2537 จำเลยได้ว่าจ้างคนงาน 4 ถึง 5 คน ไปสร้างเสาโครงเหล็กขนาดความสูง 6 เมตร จำนวน 2 ต้น พร้อมโครงเหล็กเชื่อมติดกับเสาทั้งสองขนาดกว้าง 8 เมตร แล้วติดตั้งหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนท์กับแบบสปอทไลท์ตามภาพถ่ายหมาย จ.2, ล.2, ล.3 และ จ.ร.5 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 120799 ตำบลหลักสอง อำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ)กรุงเทพมหานคร อันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมซึ่งตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยทั้ง 9 โฉนดตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภารจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยเป็นผู้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ร่วมตกเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินและให้รถยนต์เข้าออกได้และปักเสาพาดสายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โทรศัพท์และอื่น ๆ อีกผ่านโดยตลอด ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภารจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.4 ทั้งโครงเหล็กที่จำเลยว่าจ้างทำขึ้นถือได้ว่าเป็นการทำโครงเหล็กวางพาดสายไฟและติดหลอดไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างแบบถาวรแม้จะเกินความจำเป็นไปบ้างเพราะเพียงปลูกสร้างเสาไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปก็เป็นการเพียงพอแล้วก็ตามแต่ก็เป็นการใช้สิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์ตามสิทธิในภารจำยอมตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนจะเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์หรือไม่นั้นต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง กรณีจึงไม่มีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติ หรือเข้าไปเพื่อการถือครองของอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งหมดหรือบางส่วนแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share