คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้ทนายความทำหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทและตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างพ.กับจำเลยระบุว่าคู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในวันที่19สิงหาคม2535เมื่อถึงกำหนดนัดพ. ไม่ไปตามนัดจึงเป็นฝ่ายผิดนัดคำให้การดังกล่าวเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัดดังนั้นที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่จึงเป็นการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่มิได้ผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทตรงประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การแม้จะไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกาก็ตามแต่เมื่อจำเลยไม่ได้คัดค้านภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้ว ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสัญญาระหว่างพ. กับจำเลยกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่19สิงหาคม2535พ. ถึงแก่ความตายก่อนวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ดังนั้นสิทธิการรับโอนกรรมสิทธิ์และหน้าที่การชำระเงินที่เหลือของที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวย่อมเป็นกองมรดกของพ. ผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1600การเรียกร้องสิทธิของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกต้องบังคับต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกการที่จำเลยมีหนังสือนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทแจ้งให้พ.ไปดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาหลังจากพ. ถึงแก่ความตายแล้วจึงย่อมไม่มีผลบังคับสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงยังมีผลผูกพันกันอยู่ระหว่างจำเลยกับทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้โจทก์จะไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆกับจำเลยแต่โจทก์ก็ดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกของพ.โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะคู่สัญญากับพ. ปฏิบัติตามสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนางสาวพนิดา ยานะผู้ตายตามคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2535 โจทก์ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากนายอดิศักดิ์ โทวระ ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยส่งถึงผู้ตาย แจ้งให้นำเงินไปชำระจำนวน500,000 บาท และให้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านในวันที่ 28 สิงหาคม 2535 ณสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขม โจทก์พยายามติดต่ออยู่รับมอบอำนาจจำเลย เพื่อขอทราบเรื่องราวและแจ้งถึงการตายของผู้ตาย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ โจทก์จึงไปขอตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาหนองแขม ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2534ผู้ตาย ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน 60 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 74360 เลขที่ 3756 ตำบลบางแค(บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครพร้อมบ้านเลขที่ 5/12 บนที่ดินดังกล่าวจากจำเลยราคา3,000,000 บาท กำหนดโอนภายใน 1 ปี จำเลยได้รับเงินไปแล้ว 2,500,000 บาท ผู้ตายได้เสียชีวิตก่อนกำหนดโอนโดยไม่มีทายาทคนใดรู้ถึงความผูกพันตามสัญญาจะซื้อขายฉะนั้น สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นทรัพย์สินกองมรดกของผู้ตาย โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือนัดให้จำเลยไปพบ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองแขมในวันที่ 11 กันยายน 2535 เวลา 13 นาฬิกา เพื่อทำความตกลงและชำระเงินจำนวน 500,000 บาทและให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านตามสัญญาให้เป็นชื่อของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก ครั้นถึงวันนัด โจทก์ได้เตรียมเงินสดจำนวน 500,000 บาท ไปรอจำเลยตามนัดจนถึงเวลา16.30 นาฬิกา จำเลยไม่ไป ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้นหากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยรับชำระราคาที่ดินและบ้านที่เหลือตามสัญญาจะซื้อขายจำนวน500,000 บาท ด้วย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวพนิดา ยานะหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง โจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยและไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนนิติกรรมกับโจทก์ สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างนางสาวพนิดากับจำเลยในข้อที่ 1 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินกันณ สำนักงานที่ดินในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 เมื่อถึงวันนัดนางสาวพนิดามิได้ไปสำนักงานที่ดินจำเลยรออยู่จนเวลา16.30 นาฬิกา ถือว่า นางสาวพนิดาเป็นฝ่ายผิดนัดจำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำ นางสาวพนิดาจะถึงแก่ความตายจริงหรือไม่จำเลยไม่รับรองสิทธิในสัญญาดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่สัญญา โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 74360 ตำบลบางแคเหนือ (บางเชือกหนังฝั่งใต้)อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 60 ตารางวาพร้อมบ้านเลขที่ 5/12 หมู่ที่ 5 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร เป็นชื่อของโจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวพนิดา ยานะ ผู้ตาย ให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินอีก500,000 บาท และเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่าย หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยแทน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ 2 ว่า “จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่” ผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวนหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาใด ๆ กับโจทก์จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นน่าจะชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า “โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาต่อกันหรือไม่” แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว กลับรวบรัดชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ 2 ว่า “จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่” เช่นนี้เป็นการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวน จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 นั้น เห็นว่าจำเลยให้การในข้อ ก. และ ข. ว่าโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้ทนายความทำหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาท และตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างนางสาวพนิดา ยานะ กับจำเลยข้อ 1 ระบุว่า คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในวันที่ 19 สิงหาคม 2535 เมื่อถึงกำหนดนัด นางสาวพนิดาไม่ไปตามนัดจึงเป็นฝ่ายผิดนัดคำให้การดังกล่าวเป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า “จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่” จึงเป็นการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่มิได้ผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวน
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นควรชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาต่อกันหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจะตรงประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกาดังกล่าว จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดประเด็น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 183 วรรคสี่ ดังนี้ ถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้ว
ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า เมื่อถึงวัดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทวันที่ 19 สิงหาคม 2535 แต่นางสาวพนิดาไม่ได้ ตามนัด จำเลยได้ให้โอกาสโดยเลื่อนออกไปอีกเป็นวันที่ 28 สิงหาคม 2535 นางสาวพนิดา ก็ไม่ไปอีกสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงหมดอายุการใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 ถือว่าสิทธิของนางสาวพนิดาตามสัญญาหมดสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวและไม่เป็นมรดกของนางสาวพนิดานั้น เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาระหว่างนางสาวพนิดากับจำเลยกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2535คดีได้ความว่านางสาวพนิดาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่12 มีนาคม 2535 ก่อนวันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้นสิทธิการรับโอนกรรมสิทธิ์และหน้าที่การชำระเงินที่เหลือของที่ดินและบ้านพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวย่อมเป็นกองมรดกของนางสาวพนิดาผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 การเรียกร้องสิทธิของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกต้องบังคับต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 แจ้งให้นางสาวพนิดาไปดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสัญญาหลังจากนางสาวพนิดาถึงแก่ความตายแล้วจึงย่อมไม่มีผลบังคับ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3252/2524ระหว่าง กรมสรรพากร โจทก์ นายสุรินทร์ สหไพบูลย์กิจในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธนะ สหไพบูลย์กิจ กับพวกจำเลย ดังนั้น สัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจึงยังมีผลผูกพันกันอยู่ระหว่างจำเลยกับทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์การที่โจทก์มอบให้ทนายความทำหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท ถือว่าโจทก์ตั้งเงื่อนไขและเงื่อนเวลาเพียงฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยไม่เคยสนองตอบจำเลยจึงไม่ใช่ผู้ผิดสัญญานั้น ตามปัญหาดังกล่าวจำเลยได้ยกขึ้นโต้เถียงเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบการที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ถือว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้และเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยแต่โจทก์ก็ดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพนิดา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะคู่สัญญากับนางสาวพนิดาปฏิบัติตามสัญญาได้ ดังนั้น หนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 จึงมีผลบังคับต่อจำเลย หากจำเลยมีเหตุขัดข้องไม่อาจดำเนินการตามนัดที่ระบุในหนังสือฉบับดังกล่าวจำเลยก็มีสิทธิที่จะแจ้งโจทก์เพื่อขอเลื่อนไปวันอื่นได้แต่ข้อเท็จจริงในคดีจำเลยไม่ได้ดำเนินการอย่างไรเลย ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ไปตามกำหนดนัดจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
พิพากษายืน

Share