แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งต่อไป ดังนี้ ข้อความในตอนต้นที่ระบุว่ามาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้นแสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ส่วนข้อความตอนท้ายที่ว่าโจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่ง ก็หมายความว่านอกจากจะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการกับจำเลยแล้ว โจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกส่วนหนึ่ง มิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ข้อความที่โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนข้างต้น จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(7)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะคำร้องทุกข์ของโจทก์ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย จึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตามกฎหมายพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องทุกข์ของโจทก์ โจทก์ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ กรณีจำเลยออกเช็คพิพาท โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยสั่งจ่ายโดยทราบว่า ไม่มีเงินในบัญชีจะชำระเงินตามเช็คได้จำเลยจึงต้องมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารศรีนครจำกัด สาขาสำเหร่ เลขที่ 378102 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน38,000 บาท โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงนามสั่งจ่าย ปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 เมื่อเช็คถึงกำหนดโดยได้จัดการเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2528 โดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ. 2 ในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในบัญชีของจำเลยมีเงินอยู่เพียง 205 บาท โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2528 ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะการที่โจทก์อ้างว่าได้ร้องทุกข์ภายในอายุความ ไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมายนั้น ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีใจความสำคัญว่า โจทก์มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คจนกว่าคดีถึงที่สุด ในชั้นนี้โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งต่อไป เห็นว่า ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 ในตอนต้นระบุว่า มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยจนกว่าคดีจะถึงที่สุดแสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งร้อยตำรวจเอกเฉลิมเย็นสำราญ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้รับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ก็เบิกความว่าโจทก์มาร้องทุกข์โดยประสงค์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยจนถึงที่สุด แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกเฉลิมประกอบกับข้อความในเอกสารหมาย จ.3 ตอนท้ายว่า ในวันแจ้งความโจทก์ได้รับเช็คกลับคืนไปเพื่อฟ้องคดีอาญากับจำเลยเองก็ตามแต่ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 ตอนสุดท้ายนั่นเอง ระบุว่าขอรับเช็คกลับคืนไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งต่อไป ซึ่งหมายความว่านอกจากโจทก์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำนเนิการกับจำเลยแล้ว โจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองอีกส่วนหนึ่งด้วย มิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ การที่โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปจึงไม่มีผลกระทบต่อการแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อความในเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2(7) แล้ว เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่5 สิงหาคม 2528 โจทก์มาแจ้งความร้องทุกข์วันที่ 13 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคาปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2529 ภายในกำหนด 5 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือนหนักไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์