แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้บริษัท ด. นิติบุคคลต่างประเทศเป็นค่าบริการในการที่บริษัทด.เป็นผู้ดำเนินการออกแบบแปลนและแผนผังในการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกให้โจทก์รวมทั้งการติดตั้งเครื่องจักรด้วยโดยไม่ปรากฏว่าบริษัทด.ได้ให้เทคโนโลยีอย่างใดแก่โจทก์ มิใช่เป็นเงินค่าสิทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(3) แต่ถือได้ว่าเป็นเงินค่าบริการทางด้านวิศวกรรมอันเป็นวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ตามมาตรา 70(4) ในชั้นโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แม้โจทก์จะขอให้เพิกถอนการเสียเงินเพิ่มโดยขอมาลอย ๆ มิได้อ้างเหตุอย่างใดก็ถือว่าโจทก์ได้กล่าวเป็นการอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มไว้แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มต่อศาลได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถ้าศาลเห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้วก็ให้งดเรียกเก็บเงินเพิ่ม จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว เพราะเงินได้ที่โจทก์จ่ายให้แก่ บริษัทดาวเคมิคอล (ฮ่องกง) จำกัด เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2)และที่จ่ายให้แก่ บริษัท ดาวเคมิคอล (ยู.เอส.เอ.) จำกัดเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(3) การหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่งของโจทก์ไม่ถูกต้อง ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ในประเด็นเงินเพิ่ม ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นอุทธรณ์มีว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้บริษัทดาวเคมิคอล (ยู.เอส.เอ)จำนวน20,598,256.24 บาท นั้นเป็นเงินค่าบริการทางด้านวิศวกรรมอันถือเป็นวิชาชีพอิสระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(6) หรือเป็นค่าสิทธิตามมาตรา 40(3) และโจทก์มีอำนาจฟ้องในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มหรือไม่ ในปัญหาแรกข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าโจทก์ทำสัญญากับบริษัทดาวเคมิคอล (ฮ่องกง) จำกัด เกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 257 ถึงแผ่นที่ 304ซึ่งในสัญญาข้อ 3 หน้า 302 มีข้อความว่า บริษัทดาวเคมิคอล (ฮ่องกง) จำกัด โดยตนเองหรือผ่านบริษัทในเครือจะเปิดเผยเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกแก่โจทก์จึงเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทดาวเคมิคอล (ฮ่องกง) จำกัด มีเรื่องเกี่ยวกับค่าสิทธิอยู่ด้วยแต่ไม่เป็นปัญหาในคดีนี้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัทดาวเคมีคอล (ฮ่องกง) จำกัด ได้ให้บริษัทดาวเคมีคอล (ยู.เอส.เอ.)จำกัด เป็นผู้ดำเนินการโดยเป็นผู้ออกแบบแปลนและแผนผังในการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกให้โจทก์รวมทั้งการติดตั้งเครื่องจักรด้วยซึ่งบริษัทนี้ได้ทำสัญญากับโจทก์ไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 ในสัญญาดังกล่าวข้อ 5 ระบุว่าบริการที่บริษัทดังกล่าวให้แก่โจทก์โจทก์จะอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบริษัทดังกล่าวก่อนไม่ได้นั้น ก็มิได้หมายความเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เป็นแต่เพียงเงื่อนไขในสัญญาว่า บริการที่โจทก์ได้รับนั้นโจทก์ต้องใช้เอง ทั้งนี้อาจจะต่อเนื่องมาจากสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทดาวเคมิคอล (ฮ่องกง) จำกัด ที่มีหน้าที่ต้องให้เทคโนโลยีแก่โจทก์ด้วย และเมื่อให้บริษัทดาวเคมิคอล (ยู.เอส.เอ.)ดำเนินการให้โจทก์จึงมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขดังกล่าวไว้เป็นข้อสนับสนุนสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทดาวเคมิคอล (ฮ่องกง) จำกัดเท่านั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าบริษัทดาวเคมิคอล (ยู.เอส.เอ.)จำกัด ได้มอบเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่โจทก์อย่างใด ดังนั้น บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้รับจ้างสร้างโรงงาน และติดตั้งเครื่องจักรให้แก่โจทก์ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัทดาวเคมิคอล(ฮ่องกง) จำกัด โดยมอบให้บริษัทอื่น คือบริษัทดาวเคมิคอล(ยู.เอส.เอ.) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ บริษัทดังกล่าวมิได้ให้เทคโนโลยีใด ๆ แก่โจทก์ เป็นเพียงสร้างโรงงาน และติดตั้งเครื่องจักรให้เท่านั้นแล้วจึงได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ไป 20,598,256.24 บาท จริงอยู่ตามข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัททั้งสองรวมเป็น 3 ฝ่ายนั้นบริษัทดาวเคมิคอล (ยู.เอส.เอ.) จำกัด อาจให้เทคโนโลยีต่าง ๆ แก่โจทก์ อันอาจจะถือเป็นสิทธิอื่น ๆ อย่างหนึ่งได้และค่าตอบแทนที่ได้รับก็อาจจะถือว่าเป็นค่าสิทธิอื่น ๆ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทดังกล่าวได้ให้เทคโนโลยีอย่างใดแก่โจทก์ดังนี้ เงินค่าตอบแทนที่โจทก์ให้แก่บริษัทดาวเคมิคอล (ยู.เอส.เอ.)จำกัด จึงมิใช่เป็นเงินค่าสิทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(3)แต่ถือได้ว่าเป็นเงินค่าบริการทางด้านวิศวกรรมอันถือเป็นวิชาชีพอิสระตาม มาตรา 40(6) ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน โดยถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าสิทธินั้นจึงไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ
ส่วนในปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มหรือไม่นั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าในชั้นโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แม้โจทก์จะได้ขอให้เพิกถอนการเสียเงินเพิ่มก็ตาม แต่โจทก์เพียงขอมาลอย ๆ มิได้อ้างเหตุอย่างใดจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มนี้ไว้ศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์ได้กล่าวเป็นการอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มไว้แล้ว แม้จะบกพร่องไปบ้างดังที่จำเลยอ้างก็มิได้ทำให้ถือไม่ได้ว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวไว้ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในประเด็นเรื่องเงินเพิ่มได้”
พิพากษายืน