คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์เช่าพื้นที่ในโรงแรมของจำเลยที่ 1 เปิดกิจการร้านเสริมสวยและตัดผม แต่ได้เปิดกิจการอาบ อบ นวด ขึ้น นอกเหนือข้อตกลงในสัญญาและโจทก์มีพฤติการณ์รู้เห็นยินยอมให้พนักงานนวดของโจทก์ค้าประเวณีกับแขกที่มาพักโรงแรม เป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติหรือการดังกำหนดไว้ในสัญญาเช่า เมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วโจทก์ละเลยไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 554
เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว สัญญาเช่าจึงเป็นอันสิ้นสุดลง โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าอีกต่อไป การที่จำเลยไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้โจทก์ แล้วต่อมาจำเลยได้ใส่กุญแจไม่ให้โจทก์เข้าไปใช้สถานที่เช่าเป็นการกระทำภายหลังสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงโดยได้กำหนดเวลาให้โจทก์พอสมควรแล้ว จึงไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากกิจการของโจทก์และค่าชดเชยที่จ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์นับแต่วันที่สัญญาเช่าได้สิ้นสุดลง
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 127,400 บาทพร้อมดอกเบี้ย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องแย้ง แต่โจทก์ไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้แก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 19,600 บาท ถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 6 เดือน 15 วันเป็นเงิน 127,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าขาดรายได้เดือนละ 19,600 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ใช้ค่าขาดรายได้นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2528 ถึงวันฟ้องแย้ง คือ วันที่ 13 มิถุนายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 6 เดือน 13 วัน ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขอคิดดอกเบี้ย และจำเลยที่ 1ขอเรียกค่าขาดรายได้นับแต่วันฟ้องแย้งถึงวันที่โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากสถานที่เช่าเท่านั้น มิได้ขอถึงวันชำระเสร็จ จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานอกเหนือไปจากฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

Share