แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความในวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนของสำนักงานจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลมีว่า “รับประกันผู้ต้องหาชั้นสอบสวนและประกันจำเลยชั้นศาลและประกันตัวบุคคลตามกฎหมายบัญญัติไว้”นั้นคำว่า “ประกันตัวบุคคลตามกฎหมายบัญญัติไว้”ย่อมหมายความว่าเป็นการประกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้ประกันได้เมื่อกรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นการที่จำเลยเข้าค้ำประกันตัวบุคคลในการที่จะไปก่อความเสียหายให้กับโจทก์กล่าวคือเป็นการประกันหนี้ในอนาคตที่บุคคลนั้นอาจไปก่อขึ้นซึ่งมี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติไว้ให้ประกันได้ จำเลยก็ต้องรับผิดในฐานที่ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันตามนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในบริษัทโจทก์ในฐานะเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้โดยยอมรับผิดชอบต่อโจทก์เป็นเงิน 40,000 บาทว่าจำเลยที่ 1 จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วยความซื่อสัตย์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินจากลูกค้าต่าง ๆ ของโจทก์แล้วไม่นำมาชำระให้โจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ 27,000 บาท 25 สตางค์ กับดอกเบี้ย ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้หรือไม่อาจบังคับเอาได้ ก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินรายนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า เงิน 19,825.25 บาท จำเลยเก็บจากลูกค้าที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วถูกผู้ร้ายแย่งชิงไป ส่วนเงินอีก 2 ราย รวม 7,185.50 บาท จำเลยกำลังค้นหาหลักฐานอยู่ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องลูกจ้างแรงงาน เงิน 19,825.25 บาท นั้น กรรมสิทธิ์อยู่กับโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับมอบหมายให้เป็นผู้ครอบครองแทนโจทก์เท่านั้น ที่ถูกผู้ร้ายแย่งชิงนั้น จำเลยที่ 1 ก็มิได้เลินเล่อและไม่สามารถจะป้องกันได้ จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อสู้ว่า ไม่ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหน้าที่เก็บเงินและไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ไปเก็บเงินลูกค้าที่จังหวัดลำปางเป็นการนอกหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน
ศาลแพ่งฟังว่า จำเลยที่ 1 เก็บเงินจากลูกค้าของโจทก์รวม 26,901.25 บาท แล้วไม่ส่งมอบแก่โจทก์ ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลแพ่งพิจารณาว่ามี 2 ประเด็น ข้อต้น การที่จำเลยที่ 2 โดยผู้จัดการคือจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ข้อที่ 2 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่และให้ไปเก็บเงินหนี้ที่จังหวัดลำปางไม่เป็นการนอกหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 3 นั้นได้ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้จัดการสำนักงาน จ.ฟ.ล. จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องรับผิด
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์รวม 26,901 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนจนครบให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อความในวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนของสำนักงาน จ.ฟ.ล. จำเลยที่ 2 ซึ่งมีว่า “รับประกันผู้ต้องหาชั้นสอบสวนและประกันจำเลย ชั้นศาล และประกันตัวบุคคลตามกฎหมายบัญญัติไว้” แล้ว เห็นว่า การประกันตัวจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ทำนอกเหนือเกินขอบเขตวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นว่าการประกันรายนี้ไม่ใช่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นสำคัญแห่งคดีมีว่า การประกันรายนี้อยู่นอกวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ข้อความสำคัญในวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนของจำเลยที่ 2 มีอยู่ว่า “ประกันตัวบุคคลตามกฎหมายบัญญัติไว้” ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าต้องตีความว่าเป็นการประกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้ประกันกันได้ กรณีที่โจทก์ฟ้องนี้เป็นการประกันตัวบุคคลในการที่จะไปก่อความเสียหายให้กับโจทก์ กล่าวคือเป็นการประกันหนี้ในอนาคตที่บุคคลนั้นอาจไปก่อขึ้น ซึ่งได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ประกันกันได้ ดังที่ปรากฏใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรค 2
ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น