แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ข้อ 2 ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม และข้อ 4 ระบุว่า การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกิน 3 ปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมศาสนา ดังนี้ เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยแล้วจึงไม่ใช่ เป็นสัญญาเช่าโดยตรง หากแต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขในอนาคต เพราะขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ แต่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็มีผลให้เห็นได้ในอนาคตว่า หากโจทก์ปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ แล้วเสร็จตามสัญญาก็ย่อมจะ มีผลให้จำเลยต้องบังคับตามสัญญา คือให้โจทก์มีสิทธิเช่า อาคารต่าง ๆ ได้เป็นเวลา 30 ปี อันจำเป็นจะต้องขอความเห็นชอบ จากกรมการศาสนาก่อน ซึ่งโจทก์และจำเลยต่างทราบดีดังจะเห็น ได้จากสัญญาในข้อ 5 ที่ว่าเพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้ลงทุน สร้างอาคารในที่ดิน ผู้ลงทุนตกลงชำระเงินบำรุงวัดสุวรรณคีรีวงก์ จำนวน 1,200,000 บาท โดยผู้ลงทุนจะชำระในวันที่กรมการศาสนา ให้ความเห็นชอบสัญญานี้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าสัญญาระหว่าง โจทก์จำเลยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมศาสนา สัญญาระหว่าง โจทก์และจำเลยจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ยังไม่สามารถ นำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญานี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยได้บอกเลิก สัญญาแก่โจทก์ ไม่ยอมให้โจทก์เข้าปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ โดย ไม่รอฟังผลการเห็นชอบจากกรมการศาสนาก่อน จำเลยจึงเป็นฝ่าย ผิดสัญญา โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เท่านั้น หามีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงทำสัญญาให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ ในที่ธรณีสงฆ์สามแปลงของจำเลย โดยมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าเมื่อโจทก์ปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆตามสัญญาเสร็จแล้ว จำเลยจะต้องให้โจทก์มีสิทธิเช่าที่ธรณีสงฆ์ทั้งสามแปลงดังกล่าวรวมทั้งอาคารและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆตลอดจนให้โจทก์มีสิทธิให้บุคคลภายนอกเช่าช่วงที่ธรณีสงฆ์รวมทั้งอาคารและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ เหล่านั้นได้ด้วยทั้งนี้มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวไปยังโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ให้ผลประโยชน์ต่ำกว่าบริษัทอื่นโจทก์ไม่ประสงค์จะเลิกสัญญาที่ทำไว้กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์สมคบกับเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาหลายคนร่วมกันหลอกลวงเจ้าอาวาสวัดจำเลยในขณะนั้นว่ากรมการศาสนายกเลิกคำขอเช่าที่ธรณีสงฆ์จากจำเลยของผู้ขอเช่าทุกรายแล้ว เพราะกรมการศาสนาต้องการให้โจทก์เป็นผู้เช่าที่ธรณีสงฆ์ทั้งสามแปลงแต่ผู้เดียวโดยเหตุที่โจทก์ให้ค่าตอบแทนสูงกว่ารายอื่น เจ้าอาวาสวัดจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว ต่อมาจำเลยทราบว่ากรมการศาสนายังไม่ได้พิจารณาอนุญาตให้โจทก์หรือผู้ใดเช่าที่ธรณีสงฆ์ทั้งสามแปลงจำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวซึ่งไม่มีผลผูกพันจำเลยเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ซึ่งระบุว่าการให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปีจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนที่ทำไว้กับโจทก์ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1214, 1215 และ 840ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต รวม 3 แปลง เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดจำเลย เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 จำเลยโดยพระอธิการชาลี โพธิปญโญ เจ้าอาวาส ได้ทำสัญญาให้โจทก์เป็นผู้ลงทุนปลูกสร้างอาคารในที่ธรณีสงฆ์ทั้ง 3 แปลงดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า เมื่อโจทก์ปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ ตามสัญญาเสร็จแล้วให้กรรมสิทธิ์ในอาคารต่าง ๆ ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทันที และให้โจทก์มีสิทธิเช่าอาคารต่าง ๆ จากจำเลยเป็นระยะเวลา 30 ปี รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 วันที่ 7 มิถุนายน 2531จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับได้หรือไม่ กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ข้อ 2 ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมและข้อ 4 ระบุว่า การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกิน3 ปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาดังนี้ เมื่อพิจารณาสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4แล้ว ไม่ใช่เป็นสัญญาเช่าโดยตรง หากแต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขในอนาคตเพราะขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคารต่าง ๆและอาคารต่าง ๆ เหล่านั้นก็ยังไม่มี แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็มีผลให้เห็นได้ในอนาคตว่าหากโจทก์ปลูกสร้างอาคารต่าง ๆแล้วเสร็จตามสัญญาก็ย่อมจะมีผลให้จำเลยต้องบังคับตามสัญญาคือให้โจทก์มีสิทธิเช่าอาคารต่าง ๆ ได้เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งจำเป็นจะต้องขอความเห็นชอบจากกรมการศาสนาก่อน ซึ่งโจทก์และจำเลยต่างทราบดีดังจะเห็นได้จากสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ในข้อ 5ที่ว่าเพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้ลงทุนสร้างอาคารในที่ดินตามข้อ 1แห่งสัญญานี้ ผู้ลงทุนตกลงชำระเงินบำรุงวัดสุวรรณคีรีวงก์ จำนวน 1,200,000 บาท โดยผู้ลงทุนจะชำระในวันที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบสัญญานี้ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ยังไม่สามารถจะนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญานี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4 แล้ว จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ไม่ยอมให้โจทก์เข้าปลูกสร้างอาคารต่าง ๆตามสัญญาโดยไม่รอฟังผลการเห็นชอบจากกรมศาสนาก่อนก็เป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เท่านั้น โจทก์หามีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ไม่ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่น ๆ ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน