แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว.ยื่นฟ้องต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ หาได้ระบุมอบอำนาจให้ ว.ฟ้องผู้คัดค้านเป็นการเฉพาะคดีแต่ประการใดไม่ ว.จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้รับมอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าผู้คัดค้านก็ได้มีคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อ 5 (1) โดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามความจำเป็นในการยกเลิกทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทหรือโอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่ผู้ร้องแล้วแต่ผู้คัดค้านจะเลือก อันเป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาหรืองดเว้นจากการกระทำตามสัญญาต่อไป จึงไม่ใช่ข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ
ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกัน ข้อ 31, 32 ได้กำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไว้ เมื่อผู้คัดค้านเป็นฝ่ายนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านจึงต้องตระหนักและผูกพันตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับที่ใช้แก่คู่สัญญาทั่วไปที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศหรือสัญชาติของคู่สัญญา
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันดังนี้
1. ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC ดีกว่าผู้คัดค้าน
2. ให้ผู้คัดค้านเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC และดำเนินการเพิกถอนทะเบียน
เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
3. สิทธิและประโยชน์ของผู้คัดค้านในเครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC และ PRESTINE BLUE
เป็นอันหมดสิ้นตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและสัญญาการเป็นหุ้นส่วน ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิผลิตหรือจำหน่ายสินค้าของผู้ร้องภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไป
4. ให้ผู้คัดค้านเลิกใช้และคืนเอกสารหรือสิ่งพิมพ์โฆษณาที่มีคำว่า EARTHTEC, PRESTINE
BLUE และ EARTH SCIENCE LABORATORIES แก่ผู้ร้อง ณ ภูมิลำเนาผู้ร้อง โดยค่าใช้จ่ายของผู้คัดค้าน
5. ให้ผู้คัดค้านเลิกใช้ชื่อ กล่าวอ้างชื่อ หรือคำดัดแปลงชื่อในบริษัทเอิร์ธซายส์ ลาบอราตอรี่ส์
จำกัด และ เอิร์ธซายส์ ลาบอราตอรี่ส์ อิ้งค์
6. ห้ามผู้คัดค้านรบกวนหรือขัดขวางตัวแทนจำหน่ายของผู้ร้องในการใช้เครื่องหมายการค้า
EARTHTEC และ PRESTINE BLUE
7. ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2537
8. ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ร้องจ่ายเงินในฐานะผู้ถือหุ้นตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือ
สัญญาการเป็นหุ้นส่วน
9. ผู้คัดค้านไม่อาจเรียกร้องจากผู้ร้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาการเป็นหุ้นส่วนหรือสัญญาอนุญาต
ให้ใช้สิทธิ
10. ให้ผู้คัดค้านดำเนินการตาม 1 ถึง 8 ภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา
11. ให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ
เป็นเงิน 166,452.30 ดอลลาร์สหรัฐ
ผู้คัดค้านคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันดังนี้
1. ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC ดีกว่าผู้คัดค้าน
2. ให้ผู้คัดค้านเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC และดำเนินการเพิกถอนทะเบียน
เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
3. สิทธิและประโยชน์ของผู้คัดค้านในเครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC และ PRISTINE
(ที่ถูก PRISTINE BLUE) เป็นอันหมดสิ้นตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2540
4. ให้ผู้คัดค้านคืนเอกสารหรือสิ่งพิมพ์โฆษณาที่มีคำว่า EARTHTEC, PRISTINE BLUE และ
SCIENCE LABORATORIES แก่ผู้ร้อง ณ ภูมิลำเนาผู้ร้อง โดยค่าใช้จ่ายของผู้คัดค้าน
5. ให้ผู้คัดค้านเลิกใช้ชื่อ หรือกล่าวอ้างชื่อ หรือคำดัดแปลงชื่อ EARTH SCIENCE
LABORATORIES INC.
6. ห้ามผู้คัดค้านรบกวนหรือขัดขวางตัวแทนจำหน่ายของผู้ร้องในการใช้เครื่องหมายการค้า
EARTHTEC และ PRISTINE BLUE
7. ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2537
8. ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ร้องจ่ายเงินในฐานะผู้ถือหุ้นตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
9. ผู้คัดค้านไม่อาจเรียกร้องจากผู้ร้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาหุ้นส่วนหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
10. ให้ผู้คัดค้านดำเนินการตาม 1 ถึง 8 ภายใน 30 วันนับแต่วันมีคำพิพากษา
11. ให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ
เป็นเงิน 166,452.30 ดอลลาร์สหรัฐ
12. ให้ผู้คัดค้านชำระค่าฤชาธรรมเนียมในคดีนี้แทนผู้ร้อง โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 10,000 บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย ผู้ร้องเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC และ PRISTINE BLUE โดยจดทะเบียนไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2535 ผู้ร้องและบุคคลกลุ่มเคไซ ปาเต็ล ได้ทำสัญญาการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และผู้ร้องทำสัญญาอนุญาตให้ผู้คัดค้านผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของผู้ร้อง ผู้คัดค้านนำเครื่องหมายการค้า EARTHTEC ไปจดทะเบียนในนามของผู้คัดค้าน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และปี 2538 พวกผู้คัดค้านนำชื่อของผู้ร้องไปจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทว่า “บริษัทเอิร์ธซายส์ ลาบอราตอรี่ส์ จำกัด” ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อผู้คัดค้าน ปี 2541 ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า EARTHTEC ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยยกเลิกการใช้เครื่องหมายการค้ากับขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ผู้คัดค้านยื่นคำให้การสู้คดีและขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจำหน่ายคดีเนื่องจากมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการในสัญญาการเป็นหุ้นส่วนและสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่พิพาทไปดำเนินการทางวิธีอนุญาโตตุลาการ ตามคดีหมายเลขแดงที่ ทป.29/2541 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปี 2544 ผู้คัดค้านได้นำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแห่งสหรัฐอเมริกา ณ นครนิวยอร์ค โดยอ้างว่าผู้ร้องผิดสัญญาการเป็นหุ้นส่วนและสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ผู้ร้องให้การปฏิเสธต่อสู้คดีและยื่นข้อโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาและร้องแย้งเพื่อบังคับผู้คัดค้านให้เลิกการใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง เพิกถอนเครื่องหมายการค้าและชื่อบริษัทผู้ร้องออกจากทะเบียนอนุญาโตตุลาการแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายชนะคดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจนำคดีสู่ศาลหรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องที่มอบอำนาจให้นางวรนุชเป็นผู้รับมอบอำนาจในการยื่นคำร้องบังคับผู้คัดค้านตามคำชี้ขาดคดีนี้ เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเดิมในคดีหมายเลขดำที่ ทป.34/2541 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ผู้คัดค้านจะนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการและผู้ร้องยังไม่ทราบว่าจะต้องนำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาขอบังคับต่อศาล หนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้หรือมีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้คัดค้าน หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้นางวรนุชยื่นฟ้อง ต่อสู้คดี ดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ หาได้ระบุมอบอำนาจให้นางวรนุชฟ้องผู้คัดค้านเป็นการเฉพาะคดีตามคดีหมายเลขดำที่ ทป.34/2541 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแต่ประการใดไม่ นางวรนุชจึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้มอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น การมอบอำนาจดังกล่าวหาใช่เป็นการหลีกเลี่ยงประมวลรัษฎากรที่ใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องคดีไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจและการมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับได้ ผู้ร้องจึงมีอำนาจนำคดีสู่ศาล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบเนื่องจากเป็นคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาลไทย จึงเป็นข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ เห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าผู้คัดค้าน ก็ได้มีคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามความจำเป็นในการยกเลิกทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทหรือโอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่ผู้ร้องแล้วแต่ผู้คัดค้านจะเลือก อันเป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาหรืองดเว้นจากการกระทำผิดสัญญาต่อไป กรณีจึงไม่ใช่ข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการสุดท้ายมีว่า การบังคับตามคำชี้ขาดเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการอเมริกันกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมจำนวน 166,452.30 ดอลลาร์สหรัฐ และให้ผู้คัดค้านจ่ายค่าธรรมเนียมในการบริการจัดการของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันด้วย จึงเป็นจำนวนสูงเกินสมควร ศาลไทยชอบที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร เห็นว่า ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกัน ข้อ 31, 32 ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไว้ เมื่อผู้คัดค้านเป็นฝ่ายนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านจึงต้องตระหนักและผูกพันตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการดังกล่าว อันเป็นข้อบังคับที่ใช้แก่คู่สัญญาทั่วไปที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศหรือสัญชาติของคู่สัญญา ผู้คัดค้านไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้คัดค้านต้องชำระตามที่คณะอนุญาโตตุลาการของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันกำหนดขัดต่อข้อบังคับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอย่างไร ผู้คัดค้านจึงต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่คณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวกำหนด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการหาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน… ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนผู้ร้อง