แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สิทธิในการฎีกาของผู้ขอประกันต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ยื่นฎีกา ผู้ขอประกันยื่นฎีกาเมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขอประกันมีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งศาลในกรณีผิดสัญญาประกันได้ และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น กรณีจึงเป็นที่สุดผู้ขอประกันไม่มีสิทธิฎีกา
ย่อยาว
คดีเนื่องมาจากนายกิมฮ้อ แซ่เอา ผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอปล่อยนางอรุณี จันทรางกูร ผู้ต้องหาชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นในชั้นฝากขัง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย และนัดสอบคำให้การจำเลย จำเลยไม่มาศาล ผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยสองครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันนัดจำเลยไม่มาศาล ผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการส่งตัวจำเลยอีก แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและสั่งปรับผู้ขอประกันตามสัญญาประกัน ผู้ขอประกันอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ขอประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ขอประกันยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 2พฤศจิกายน 2532 ภายหลังที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มีผลใช้บังคับแล้วสิทธิในการฎีกาของผู้ขอประกันจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ยื่นฎีกา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ที่แก้ไขแล้วและมีผลใช้บังคับในขณะผู้ขอประกันยื่นฎีกาบัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องเมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น กรณีของผู้ขอประกันจึงเป็นที่สุดไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีการับวินิจฉัยไม่ได้”
พิพากษายกฎีกา