คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 391/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างโจทก์จำเลยยังคงเป็นลูกจ้างนายจ้างกันอยู่ตามสัญญาจ้างการพักงานเป็นเพียงนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานอาจเป็นเพราะเกรงว่าจะทำให้งานของนายจ้างเสียหาย จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตลอดเวลาที่สั่งพักงานนั้น และเงินนี้เป็นค่าจ้างมิใช่ค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างระหว่างถูกพักงานเป็นเงิน 22,403 บาทเมื่อได้ความว่าค่าจ้างระหว่างโจทก์ถูกพักงานเป็นเงิน 23,343.33 บาท ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงิน 23,343.33 บาทตามความเป็นธรรมที่โจทก์ควรจะได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์อ้างว่าโจทก์ตกเป็นผู้ต้องหาความผิดฐานพยายามลักทรัพย์และวางเพลิงบริษัทจำเลย ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยเพิกเฉยเป็นการเลิกจ้างโจทก์ ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกพักงาน (เป็นเงิน 22,403 บาท) สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายในเงินดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งพักงานโจทก์เพราะโจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเรื่องมีคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลย จำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าเสียหายที่โจทก์ถูกสั่งพักงาน ค่าชดเชย เงินสะสมและค่าเสียหายในการเลิกจ้างโจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาร่วมกับผู้อื่นลักทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2524 ต่อมาพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์ขอกลับเข้าทำงาน วันที่ 4 มิถุนายน 2524 ที่ประชุมกรรมการบริษัทจำเลยมีมติไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน เห็นว่าการที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์จำเลยยังคงเป็นลูกจ้างนายจ้างกันอยู่ตามสัญญาจ้างการพักงานเป็นเพียงนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงาน อาจเป็นเพราะเกรงว่าจะทำให้งานของนายจ้างเสียหาย จำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตลอดเวลาที่จำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ แม้ว่าระหว่างโจทก์ถูกพักงาน โจทก์ไม่ได้ทำงานก็เป็นการกระทำของนายจ้างเองที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงาน เงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ในระหว่างโจทก์ถูกพักงานเป็นเงินค่าจ้างไม่ใช่ค่าเสียหาย การที่ที่ประชุมกรรมการบริษัทจำเลยมีมติไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2524 ก็คือการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2524 เป็นเงิน 23,343.33 บาท ตามความเป็นธรรมที่โจทก์ควรจะได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52

พิพากษาแก้ในเรื่องค่าเสียหายระหว่างจำเลยพักงานโจทก์เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงิน 23,343.33 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2524 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share