คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3905/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติเนื้อที่ 30 ไร่เศษ โดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลยตามส.ค.1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยเข้าแผ้วถางบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองท่าเรือเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่เศษโดยจำเลยอ้างว่าเป็นที่ดินตาม ส.ค.1 ของจำเลย และเมื่อมีการตรวจสอบแล้วปรากฏว่าไม่ใช่ที่ดินตาม ส.ค.1 ของจำเลย แต่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติจำเลยรู้แล้วยังเข้าแผ้วถาง ปลูกต้นมะพร้าวต้นมะม่วงหิมพานต์ นำเปลือกมะพร้าวไปถมที่ดินและครอบครองตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกับคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507)ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 กำหนดให้ป่าเลนคลองท่าเรือในท้องที่ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2528 เวลากลางวันถึงวันเวลาตามฟ้อง ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เข้าไปปลูกต้นมะพร้าวและต้นมะม่วงหิมพานต์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติจำนวนเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่ ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2507 ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และสั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปีคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกมีกำหนด 2 ปี ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากป่าสงวนแห่งชาติด้วย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ให้ปรับจำเลย15,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคแรก ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ระงับไปเพราะฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 261/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีเดิมโจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2527 ถึงวันที่5 พฤศจิกายน 2527 จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติจำนวนเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ และโจทก์ได้นำสืบแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.5 ว่า จำเลยบุกรุกตั้งแต่เครื่องหมายดอกจันระหว่างหลักหมายเลข 36-37 ไปจนถึงเครื่องหมายดอกจันระหว่างหลักหมายเลข 40-41 ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยนำสืบว่านายนิคมบิดาจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่ปี 2486นับถึงปัจจุบัน 40-50 ปีแล้ว มีหลักฐาน ส.ค.1 รวม 4 ฉบับศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยครอบครองที่เกิดเหตุโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของจำเลยเองตาม ส.ค.1 ที่ตนเองยึดถืออยู่ ไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมาประมาณปลายปี 2528 นายสลัดบำรุงนา ผู้ใหญ่บ้าน เห็นจำเลยแผ้วถางบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองท่าเรือ โดยปลูกต้นมะพร้าวและต้นมะม่วงหินพานต์ประมาณเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ทิศเหนือจดถนนสายป่าคลอก ทิศใต้จดป่าสงวนแห่งชาติ ทิศตะวันตกจดคลองบางลา ทิศตะวันออกจดสวนนางหงวดซิ้ว สาธุพิทักษ์ ซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงได้รายงานนายอำเภอ นายอำเภอสั่งให้ปลัดอำเภอป่าไม้อำเภอ และที่ดินอำเภอไปตรวจสอบ จำเลยอ้างว่าที่ดินมี ส.ค.1 เลขที่ 204, 217, 218, 219 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบที่ดินตาม ส.ค.1 ดังกล่าว ปรากฏว่าเป็นคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยบุกรุกคือ ที่ดินตาม ส.ค.1 อยู่ทางทิศตะวันตกของคลองบางลา ส่วนที่ดินที่จำเลยบุกรุกอยู่ทางทิศตะวันออกของคลองบางลาตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 ที่ดินที่จำเลยบุกรุกปรากฏในแผนที่เอกสารหมาย จ.4หลังจากรังวัดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติแน่นอนแล้ว จำเลยยังคงเข้าไปปลูกต้นมะพร้าว ต้นมะม่วงหิมพานต์ และนำเปลือกมะพร้าวไปถมที่ดินดังกล่าวด้วยและครอบครองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ศาลฎีกาเห็นว่าคดีเดิมศาลพิพากษาโดยฟังว่าจำเลยครอบครองที่เกิดเหตุโดยเข้าใจว่าที่ดินเป็นของจำเลยเองตาม ส.ค.1 ที่ตนเองยึดถืออยู่แต่เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดแล้วทางราชการได้ตรวจสอบที่ดินตาม ส.ค.1ที่จำเลยอ้าง ปรากฏว่าไม่ใช่ที่ดินที่เกิดเหตุเพราะอยู่คนละฝั่งคลองบางลา และจำเลยก็รู้แล้วว่าที่เกิดเหตุนั้นเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยยังเข้าแผ้วถางป่า ปลูกต้นมะพร้าวต้นมะม่วงหิมพานต์ นำเปลือกมะพร้าวไปถมที่ดินดังกล่าว และครอบครองตลอดมาเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงและในระยะเวลาตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกับคดีเดิม ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 261/2528 ของศาลชั้นต้น”
พิพากษายืน

Share