แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ฉบับแรกของโจทก์ร่วม เพราะเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยอ้างเหตุว่ากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยว่าเหตุการณ์ตามคำร้องดังกล่าวมีพฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาที่ในการยื่นอุทธรณ์ได้ และได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปตามคำร้องของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นในการดำเนินการอนุญาตเช่นนั้นได้ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยลำพังได้ ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นภายในกำหนดระยะเวลา ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องรับไว้วินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุทิน เจียมจิตศิริพงษ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมชอบหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 ครบกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ร่วมจะยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน ตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ร่วมได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับแรก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่า กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โดยให้ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2542 และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 โจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งรองอัยการสูงสุดรักษาราชการแทนอัยการสูงสุดได้รับรองให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2542 โจทก์ร่วมได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 อันเป็นระยะเวลาภายในกำหนดที่ขอขยาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเกินกำหนด โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้นั้น เห็นว่า คำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวนั้น เป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยว่า เหตุการณ์ตามคำร้องของโจทก์ร่วมมีพฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ และได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปตามคำร้องของโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นในการดำเนินการอนุญาตเช่นนั้นได้ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยลำพังได้ ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นภายในกำหนดระยะเวลา ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องรับไว้วินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมานั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ต่อไป