คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงตนในวันใดอายุความร้องทุกข์ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น การที่โจทก์ร่วมพยายามโทรศัพท์ถึงจำเลยอีกหลายครั้งหลายหนในเวลาต่อมาทั้งๆ ที่จำเลยรับบ้างไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับปากว่าจะนำเงินไปชำระแต่แล้วก็ผิดนัดเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันใดไม่ปรากฏชัด กลางเดือนสิงหาคม 2543 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 26 มกราคม 2544 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยโดยทุจริต หลอกลวงนายสุวรรณ ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่ามีบุคคลอื่นมาติดต่อขอซื้อรังนกนางแอ่น ในราคากิโลกรัมละ 75,000 บาท และไม้จันทร์หอม ในราคากิโลกรัมละ 55,000 บาท ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีบุคคลอื่นมาขอซื้อรังนกนางแอ่นและไม้จันทร์หอมแต่อย่างใดและในการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ส่งมอบรังนกนางแอ่นจำนวน 9 กิโลกรัม ราคา 675,000 บาท และไม้จันทร์หอมจำนวน 1.5 กิโลกรัม ราคา 82,500 บาท รวมราคา 757,500 บาท ให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำรังนกนางแอ่นและไม้จันทร์หอมของผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์สำหรับตนเอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำเลยคืนรังนกนางแอ่นจำนวน 9 กิโลกรัม และไม้จันทร์หอมจำนวน 1.5 กิโลกรัม หรือใช้ราคา 757,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุวรรณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนรังนกนางแอ่นจำนวน 9 กิโลกรัม และไม้จันทร์หอมจำนวน 1.5 กิโลกรัม หรือใช้ราคา 757,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาทำนองว่า เหตุที่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2543 เป็นเพราะจำเลยเคยยืมเงินหรือทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปแล้วมักจะผิดนัด ต้องให้โจทก์ร่วมติดตามทวงถามหลายครั้ง ทำให้โจทก์ร่วมยังไม่แน่ใจว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่จนกระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยอ้างต่อพันตำรวจโทบุญเลิศ ว่าได้ให้เงินโจทก์ร่วมแล้ว 300,000 บาท โจทก์ร่วมจึงแน่ใจว่า จำเลยมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ร่วมมาแต่ต้น ต้องถือว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 นั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความโจทก์ร่วมและนางนันทิยา ภริยาของโจทก์ร่วมได้ความว่า หลังจากมอบรังนกนางแอ่นและไม่จันทร์หอมให้จำเลยแล้ว จำเลยบอกให้โจทก์ร่วมรอรับเงินอยู่ที่ลานจอดรถซึ่งเป็นสถานที่ส่งมอบสินค้านั่นเอง โจทก์ร่วมและนางนันทิยาจึงรอจำเลยอยู่บริเวณดังกล่าว ตั้งแต่เวลาประมาณ 16 ถึง 17 นาฬิกา จนกระทั่งเที่ยงคืนจำเลยก็ไม่ไปตามนัด เมื่อโจทก์ร่วมโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จำเลยก็ปิดเครื่องโทรศัพท์ของจำเลยเสีย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวโจทก์ร่วมควรจะรู้เสียตั้งแต่ในขณะนั้นแล้วว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงตน การที่โจทก์ร่วมพยายามโทรศัพท์ถึงจำเลยอีกหลายครั้งหลายหนในเวลาต่อมาทั้งๆ ที่จำเลยรับบ้างไม่รับบ้าง หรือบางครั้งรับปากว่าจะนำเงินไปชำระแต่แล้วก็ผิดนัด เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเพิ่งทราบหรือแน่ใจถึงการกระทำของจำเลยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นวันที่จำเลยอ้างต่อพันตำรวจโทบุญเลิศว่าได้ให้เงินโจทก์ร่วมแล้วแต่อย่างใด การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมในวันที่ 23 มีนาคม 2544 จึงเป็นการร้องทุกข์เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share