คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเดินรถรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาต โดยมีกำหนดเวลาออกรถและสถานที่จอดรถที่แน่นอนประจำทุกวัน เมื่อรถจำเลยถึงปลายทาง ผู้โดยสารต่างคนต่างแยกย้ายกันไป รถจำเลยไม่ได้พาผู้โดยสารไปทัศนาจรที่ใดเลย และการจำหน่ายตั๋วโดยสารก็จำหน่ายเป็นรายบุคคล ในอัตราค่าโดยสารที่เป็นปกติธรรมดา มิใช่เพื่อการทัศนาจรดังนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยเดินรถในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ผู้มีสิทธิทำการขนส่งเดินรถประจำทางในเส้นทางสายที่โจทก์ได้รับอนุญาต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการรับทำการขนส่งทั่วไปได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารในเส้นทางจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ มีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2513ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2518 จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการทำการบริการท่องเที่ยวและประกอบการค้าอื่น ๆ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2517 จำเลยได้นำรถยนต์เข้าทำการขนส่งในเส้นทางสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เป็นประจำทุกวันจนบัดนี้โดยกระทำในลักษณะรถทัศนาจร แต่ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว จำเลยนำรถมาใช้ประกอบการขนส่งเป็นประจำในเส้นทางสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้าทำการขนส่งในเส้นทางสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และให้ชดใช้ค่าเสียหายวันละ 18,560 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะหยุดหรือเลิกเข้าทำการขนส่ง

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยนำรถยนต์เข้าทำการขนส่งในเส้นทางสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และมิได้ทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับการประกอบกิจการขนส่งของโจทก์ การนำลูกค้าไปท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นบริษัทจำเลยไม่ได้กระทำแต่เป็นกิจการของบริษัทเอมเพรสนอร์ทเทอนทัวร์ จำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากบริษัทจำเลย และบริษัทเอมเพรสนอร์ทเทอนทัวร์จำกัด ไม่ได้ทำการขนส่งผู้โดยสารในลักษณะเป็นการแข่งขันกับการประกอบกิจการขนส่งของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาห้ามมิให้จำเลยทำการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 800 บาท นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2517 จนกว่าจะหยุดดำเนินการ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเดินรถรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาต เมื่อรถจำเลยถึงปลายทาง ผู้โดยสารต่างคนต่างแยกย้ายกันไป รถจำเลยไม่ได้พาผู้โดยสารไปทัศนาจรที่ใดเลย และการจำหน่ายตั๋วโดยสารนั้นก็จำหน่ายเป็นรายบุคคลคนละ 140 บาท ซึ่งเป็นราคาปกติธรรมดา มิใช่เพื่อการทัศนาจร ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยเดินรถในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ผู้มีสิทธิทำการขนส่งเดินรถประจำทางในเส้นทางสายที่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์

พิพากษายืน

Share