แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยวางแผนการที่จะฆ่าผู้ตายและผู้เสียหายเพื่อจะเอาทรัพย์มาตั้งแต่เวลาประมาณ 11 นาฬิกา เมื่อมีโอกาสจึงฆ่าผู้ตายก่อน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทรัพย์จากผู้ตายหรือไม่ แล้วจำเลยจึงฆ่าผู้เสียหายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป แต่ผู้เสียหายไม่ตายตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายด้วยเจตนาอันเดียวกันและเป็นการกระทำต่อเนื่องกันถือได้ว่าเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80,91, 288, 289, 335 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และขอให้ริบไม้และเชือกของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), (6), 289(4),(6) ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 335 วรรคสองลงโทษมาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิต คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78ประกอบด้วยมาตรา 52 เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม้และเชือกของกลางให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ส่วนไม้และเชือกของกลางฟังได้ว่าเป็นของที่คนร้ายได้ใช้ในการกระทำผิด จึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในคืนวันที่ 6 มิถุนายน 2530นางสุมณฑา เรืองขันธ์ ผู้ตายถูกจำเลยใช้เชือกมัดและใช้ของแข็งทุบตีถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องและในคืนวันเดียวกันนั้นนางผกาหรือติ๊ก เรืองขันธ์ ผู้เสียหายน้องสาวของผู้ตายก็ถูกจำเลยใช้เชือกรัดคอโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายเพียงแต่สลบ หลังจากนั้นจำเลยได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่าจำเลยวางแผนการที่จะฆ่าผู้ตายและผู้เสียหายเพื่อจะเอาทรัพย์มาตั้งแต่เวลาประมาณ 11 นาฬิกาเมื่อมีโอกาสจึงฆ่าผู้ตายก่อน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทรัพย์จากผู้ตายหรือไม่ แล้วจำเลยจึงฆ่าผู้เสียหายและเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยกระทำต่อผู้ตายและผู้เสียหายด้วยเจตนาอันเดียวกันและเป็นการกระทำต่อเนื่องกันถือได้ว่าเป็นการกระทำในคราวเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยชอบแล้ว
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น