คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายเมาสุราส่งเสียงดัง จำเลยตั้งใจจะไปตามตำรวจมาจับ และไปเอาจักรยานยนต์ที่จอดไว้จะขี่ไป พอปลดเกียร์จะไสรถออก จำเลยได้ยินเสียงแกร๊กหันไปดูเห็นผู้ตายยืนอยู่ห่างจำเลย 4 วา ในมือผู้ตายถือปืนจ้องมาทางจำเลย ดังนี้ เรียกได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงจำต้องใช้ปืนยิงไปเพื่อป้องกันสิทธิแห่งชีวิตตน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยินเสียงดังเฉียะ จึงยิงสวนไปนัดหนึ่ง แล้วก็มิได้มีเสียงปืนของผู้ตายดังอีก แต่จำเลยยังยิงไปอีก 4 – 5 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการเกินสมควรแก่เหตุที่จะป้องกันตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณา เพราะเป็นมูลกรณีเดียวกัน ฟ้องของโจทก์มีใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๐๘ จำเลยบังอาจใช้ปืนเป็นอาวุธ ยิงทำร้ายร่างกายนายสมภาร หรือบานจนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๕๙
จำเลยให้การและยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย มีตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอและเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ตายได้กระทำผิดกฎหมายดื่มสุรามึนเมามาก ทั้งส่งเสียงเอะอะจึงได้ทำการจับกุมผู้ตาย ผู้ตายขัดขืนไม่ให้จับและชักอาวุธปืนยิงจำเลยก่อน จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการป้องกันตัว และจำเลยถือว่าผู้ตายได้กระทำการขัดขวางต่อสู้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่จะกระทำการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่เชื่อว่าผู้ตายจะได้ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยก่อนในคืนเกิดเหตุ และเห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้ตายให้ตายจริง จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ให้จำคุกจำเลย ๒๐ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าผู้ตายเมาสุราส่งเสียงดัง จำเลยตั้งใจจะไปตามตำรวจมาจับและไปเอาจักรยานยนต์ที่จอดไว้จะขี่ไป พอปลดเกียร์จะไสรถออกจำเลยก็ได้ยินเสียงแกร๊ก หันไปดูเห็นผู้ตายยืนอยู่ห่างจำเลย ๔ วา ในมือผู้ตายถือปืนจ้องมาทางจำเลย จำเลยก็ย่อตัวลงบังจักรยานยนต์ แต่เห็นว่าจะไม่ปลอดภัยจึงกระโดดออกจากรถไปให้อยู่ในลักษณะเฉียง ๆ ไม่ให้ตรงกับผู้ตาย ผู้ตายจ้องปืนตาม จำเลยร้องว่า “ซะอย่า” แล้วกระโดดกลับมาที่รถจักรยานยนต์อีก ได้ยินเสียงเฉียะในลักษณะลั่นไกปืน จำเลยจึงยกปืนขึ้นยิงสวนไป ๕ นัดติด ๆ กัน ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายใช้อาวุธปืนจ้องยิงจำเลยในระยะใกล้ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษรายอันละเมิดต่อกฎหมาย และใกล้จะถึงอยู่แล้ว จำเลยจึงจำต้องใช้ปืนยิงเพื่อป้องกันสิทธิแห่งชีวิตตน แต่เท่าที่จำเลยยิงไป ๔-๕ นัด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ เพราะการที่จำเลยได้ยินเสียงดังเฉียะ จำเลยยิงสวนไปนัดหนึ่งแล้ว ก็มิได้มีเสียงปืนของผู้ตายดังขึ้นเลย แล้วจำเลยยังยิงต่อไปอีก ดังนี้ จึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเกินสมควรแก่เหตุที่จะป้องกันตามนัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๙ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิแห่งชีวิตของจำเลย แต่จำเลยได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑๐ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share