คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกันเข้ามาจำหน่ายด้วยกัน กรณีจึงหาใช่เป็นเรื่องจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์อันเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 ไม่ และเมื่อจำเลยได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว การนำเข้ามาในราชอาญาจักรเพื่อจำหน่ายสินค้าดังกล่า ก็ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ใช้สมญาในทางการค้า (ยี่ห้อ) ว่า “ห่านพงกี่” ได้สั่งสินค้ากรรไกรตัดผมจากบริษัทมิซุโฮเทรดิงคัมปะนี แห่งเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมาโจทก์นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อหน้าเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่กองเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงเศรษฐการ จำเลยบังอาจนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งกรรไกรตัดผมมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ เลข ๓๓๙, ๕๕๕ และ ๙๙๙ เพื่อจำหน่าย โดยจำเลยกับพวกปลอมหรือสั่งให้บริษัทต่างประเทศผู้ประดิษฐ์กรรไกรปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้ปรากฏในกรรไกร หีบ ห่อ และวัตถุที่ใช้หุ้มห่อ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒(๑) และวรรค ๔, ๒๗๓, ๒๗๔ และ ๒๗๕ ขอให้ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นประทับฟ้อง เฉพาะกระทงที่มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๔, ๒๗๕
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ว่าข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมานั้น จะปรับบทเอาผิดแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๔, ๒๗๕ ได้หรือไม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งขอให้รับฎีกาทุกข้อ
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาโจทก์ข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยผิดกันมาก ไม่สามารถทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่าไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณานั้น ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องหมายเลขอารบิค ๓๓๙, ๕๕๕ และ ๙๙๙ ทั้ง ๓ เครื่องหมายนี้ เป็นตัวเลขที่บริษัทโรงงานผู้ผลิตได้ทำขึ้นใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้ากรรไกรแต่เดิม และคงใช้อยู่ตลอดมา โจทก์จำเลยต่างสั่งสินค้ากรรไกรที่มีตัวเลขดังกล่าวประทับนี้เข้ามาจำหน่ายด้วยกัน จำเลยสั่งเข้ามา ๑๕ ปีแล้ว ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์เริ่มสั่งเข้ามาจำหน่าย ๕ ปี โจทก์เพิ่งจะเอาเครื่องหมายตัวเลขอารบิคดังกล่าวไปประกอบรูปอาร์มนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของโจทก์ในภายหลังเมื่อก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ กรณีจังหาใช่เป็นเรื่องจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์อันเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๔ ไม่ และเมื่อฟังว่าจำเลยไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งกรรไกรตราอย่างของจำเลยก็ย่อมจะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๔ ด้วย
พิพากษายืน.

Share