แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งมาโดยชัดแจ้งว่าที่ศาลล่างฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ว่า ส. และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการลงชื่อซื้อที่ดินพิพาทนั้น และความจริง ส. และจำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อในโฉนดในฐานะตัวแทนของโจทก์ดังที่ศาลล่างฟังมา ดังนี้ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะฟังเป็นอย่างอื่น
การที่โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์ นั้น หาได้สืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย ในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงมิใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด
ถ้าหากเป็นคดีมีข้อพิพาทในหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยสัญญาตัวแทนเป็นมูลกรณี ก็อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ที่จะต้องมีหนังสือตั้งตัวแทนเพราะสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 มิได้ใช้บังคับในกรณีที่ตัวการตัวแทนพิพาทกันตามสัญญาตัวแทนโดยเฉพาะเพราะตัวการตัวแทนผูกพันกันตามสัญญาตัวแทนอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้อาศัยหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้อง ทำเป็นหนังสือเป็นข้อผูกพันอันเป็นมูลฟ้องแต่ประการใดเลย
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97(5) กฎหมายใช้คำว่า ‘กรรมการ’ มิได้ใช้คำว่า ‘คณะกรรมการ’ ดังนั้น เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีคนต่างด้าวคนหนึ่งเป็นกรรมการรวมอยู่ด้วย จึงย่อมหมายถึงกรรมการคนใดคนหนึ่ง ไม่หมายความว่ากรรมการทุกคนต้องเป็นคนต่างด้าวโจทก์จึงอยู่ในข่ายที่จะมีสิทธิในที่ดินได้เสมือนคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86
แม้การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ผลของข้อห้ามนี้มีอย่างไรนั้น ยังมีบทบัญญัติต่อไปในมาตรา 94 ว่าบรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ฯลฯ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่า กฎหมายมิได้ถือว่าการได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น โดยการซื้อขายนั้น ไม่มีผลใด ๆ เสียเลย แม้คนต่างด้าวจะไม่สามารถถือและใช้สิทธิในที่ดินนั้นได้อย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยบริบูรณ์ แต่กฎหมายก็ยังบัญญัติให้จำหน่ายที่ดินนั้นเสียตามกำหนดเวลาที่อธิบดีมีคำสั่ง มิฉะนั้นอธิบดีจะจัดการจำหน่ายเองตามวิธีการที่กฎหมายบังคับไว้ (อ้างฎีกาที่ 499/2500) ซึ่งคนต่างด้าวจะได้รับค่าที่ดินคืนไป เมื่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97(5) ได้ยกเลิกไปแล้วโดยที่อธิบดีก็มิได้สั่งให้โจทก์จำหน่ายที่ดินซึ่งมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเป็นใจความว่า นายสหัท มหาคุณ ขอให้ธนาคารโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1676, 1706 ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) พระนคร เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 45 วา ซึ่งนายสหัทรับซื้อจากพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช โดยคิดราคา 18,000,000 บาท ธนาคารโจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวซึ่งโฉนดยังเป็นชื่อพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัชและได้จดทะเบียนโอนโฉนดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2500 โจทก์ชำระเงิน 18,000,000 บาท และค่าโอน 105,540 บาทแล้ว การซื้อที่ดินนี้โจทก์ใส่ชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของโจทก์และจำเลยที่ 1 ภริยาเป็นผู้ซื้อในสัญญาขายที่ดินและในโฉนดในฐานะตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนโจทก์ เพราะขณะนั้นโจทก์มีบุคคลต่างด้าวเป็นกรรมการอยู่ไม่สามารถรับโอนที่พิพาทมาเป็นชื่อของธนาคารโจทก์ได้และใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วย เพราะเนื้อที่เกินที่จอมพลสฤษดิ์มีชื่อคนเดียวได้ โจทก์ได้ยึดถือครอบครองที่ดินตั้งแต่แรก และได้จัดการให้เช่าเก็บผลประโยชน์ จัดการทุกอย่างโดยจอมพลสฤษดิ์กับจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องด้วย จอมพลสฤษดิ์ถึงอสัญกรรม โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและภริยาเป็นทายาทจดทะเบียนโอนที่ดินคืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก และได้มีคำสั่งตาม มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้ทรัพย์สินในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์และจำเลยที่ 1 ตกเป็นของรัฐ ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าที่ดินโฉนดที่ 1676 และ 1706 ดังกล่าวรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างราคา 24,000,000 บาท เป็นกรรมสิทธิ์ ของโจทก์ ให้ถอนชื่อจอมพลสฤษดิ์และจำเลยที่ 1 ออกจากโฉนดดังกล่าวและใส่ชื่อธนาคารโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ถ้าทำไม่ได้ให้เอาเงินกองมรดกชดใช้แก่โจทก์ 24,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินทั้งสองโฉนดโจทก์ซื้อไว้ จำเลยที่ 1 และจอมพลสฤษดิ์ลงชื่อในโฉนดในฐานะตัวแทนโจทก์ แต่รัฐบาลมีคำสั่งห้ามโอน จำเลยจึงโอนคืนให้โจทก์ไม่ได้ กองมรดกไม่ต้องรับผิดผู้ขายที่ดินต้องคืนเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ตกเป็นของรัฐตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี จำเลยจึงหมดอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีมูลที่จะฟ้องจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกกระทรวงการคลังเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
กระทรวงการคลังจำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่พิพาทจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ซื้อ โจทก์มิได้เป็นผู้ซื้อ นายพักตร์ หงษ์ทอง ผู้รับมอบอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์จดทะเบียนซื้อมิได้ซื้อแทนคนต่างด้าวหรือผู้ใดอื่น หากโจทก์จะจัดการก็จัดการให้แก่จอมพลสฤษดิ์และจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ต้องห้ามมิให้มีที่ดิน เว้นแต่เพื่อใช้ดำเนินกิจธุระของธนาคารหรือสำหรับพนักงานธนาคาร ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 มาตรา 11 พ.ศ. 2505 มาตรา 12(5) ตามฟ้องปรากฏว่าโจทก์มีคนต่างด้าวเป็นกรรมการ ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกคืนทรัพย์หรือราคาทรัพย์
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จอมพลสฤษดิ์และจำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทในฐานะตัวแทนโจทก์ พิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ 1676 และ 1706 ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) จังหวัดพระนคร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้จำเลยโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ขัดข้องที่จะโอนที่พิพาท จึงไม่บังคับให้กองมรดกจอมพลสฤษดิ์ใช้ค่าเสียหาย ให้ยกคำขอข้อนี้หากปรากฏว่าจำเลยคนใดต้องรับผิดในการโอนที่พิพาท ก็ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะดำเนินคดีกับจำเลยคนนั้นใหม่
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น เว้นแต่ในข้อที่โจทก์ขอให้ลงชื่อโจทก์ในโฉนดศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในขณะที่ซื้อที่พิพาท กรรมการของโจทก์คนหนึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 97 จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้โดยสนธิสัญญา และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโจทก์มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ พิพาท แม้ต่อมากฎหมายส่วนนี้จะถูกยกเลิกก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ต้องห้ามกลับมีผลขึ้นได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อที่ขอให้ศาลแสดงหรือลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินสองโฉนดพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างนั้นเสีย นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งมาโดยชัดแจ้งเลยว่า ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ จอมพลสฤษดิ์ และจำเลยที่ 1 มิได้ลงชื่อในโฉนดในฐานะตัวแทนของโจทก์ ดังที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงมาดังนี้ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะฟังเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 3 คงโต้แย้งในฎีกาว่า โจทก์สืบพยานบุคคลไม่ได้เพราะเป็นการแก้ไขเอกสาร เช่น โฉนดและสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนว่าจอมพลสฤษดิ์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่พิพาท ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์สืบพยานบุคคลว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นตัวแทนของโจทก์นั้น หาได้นำสืบในข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นไม่ แต่เป็นการสืบพยานในข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีตัวแทนอีกส่วนหนึ่ง จึงมิใช่การนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่ประการใด ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การตั้งตัวแทนระหว่างโจทก์และจอมพลสฤษดิ์กับจำเลยที่ 1 มิได้ทำเป็นหนังสือ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าคดีมีข้อพิพาทในหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยตัวแทนเป็นมูลกรณีนั้น ก็อยู่ในบังคับของมาตรา 798 ที่จะต้องมีหนังสือตั้งตัวแทน เพราะสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 798 นี้ มิได้ใช้บังคับในกรณีที่ตัวการตัวแทนพิพาทกันตามสัญญาตัวแทนโดยเฉพาะ เพราะตัวการตัวแทนผูกพันกันตามสัญญา ตัวแทนอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้อาศัยหนี้ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องทำเป็นหนังสือเป็นข้อผูกพันอันเป็นมูลฟ้องแต่ประการใดเลย
เกี่ยวกับประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97(5) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะซื้อขายที่พิพาทความว่า นิติบุคคลใดในมาตรานี้ที่ผู้จัดการหรือกรรมการเป็นคนต่างด้าว มีสิทธิในที่ดินได้เสมือนคนต่างด้าวนั้นกฎหมายใช้คำว่า “กรรมการ” มิได้ใช้คำว่า “คณะกรรมการ” ได้ความว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีคนต่างด้าวโจทก์จึงอยู่ในฐานะที่จะมีสิทธิในที่ดินได้เสมือนคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ถึงแม้การที่โจทก์ซื้อที่พิพาทเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ผลของข้อห้ามมีอย่างไรนั้น มีบทบัญญัติต่อไปใน มาตรา 94 ว่า บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ฯลฯ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และได้นำบทบัญญัติในเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายมิได้ถือว่าการได้ที่ดินมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น โดยการซื้อขายดังกล่าวแล้วนั้น ไม่มีผลใด ๆ เสียเลย แม้คนต่างด้าวจะไม่สามารถถือและใช้สิทธิในที่ดินนั้นได้อย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยบริบูรณ์แต่กฎหมายก็ยังบัญญัติให้คนต่างด้าวจำหน่ายที่ดินนั้นเสียตามกำหนดเวลาที่อธิบดีมีคำสั่ง มิฉะนั้นอธิบดีจะจัดการจำหน่ายเองตามวิธีการที่กฎหมายบังคับไว้ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 499/2500) ซึ่งคนต่างด้าวจะได้รับค่าที่ดินคืนไป ในคดีนี้ได้ความต่อไปว่า บัดนี้ มาตรา 97(5) ได้ยกเลิกไปแล้ว โดยที่อธิบดีก็มิได้สั่งให้โจทก์จำหน่ายที่ดินซึ่งมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ณ บัดนี้ไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ลงชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ