แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานคร มิใช่ส่วนราชการของกรุงเทพมหานครหาได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 บังคับไม่
จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ แม้เป็นเจ้าหน้าที่ ในสังกัดกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 และกระทำการตามหน้าที่ระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่เมื่อเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ก็ต้องมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในฐานะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการ สำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ หาได้ฟ้องตำแหน่งหน้าที่เป็นจำเลยไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงอาจถูกฟ้องให้จ่ายค่าชดเชยได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ด้วย เป็นการผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 24,225 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามหรือไม่ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า สำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานคร เป็นราชการส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานบังคับ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ 1 กระทำการตามหน้าที่และระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิใช่บุคคลหรือนิติบุคคลไม่อาจถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง ฯลฯ” มาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ให้จัดระเบียบราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้ (1) สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (2) สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร (3) สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร (4) สำนักหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าสำนัก (5) เขต” มาตรา 11 วรรคสาม บัญญัติว่า “การตั้งเปลี่ยนแปลง หรือยุบส่วนราชการ การแบ่งหน่วยงานภายในส่วนราชการและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและหัวหน้าส่วนราชการตามความในวรรคหนึ่งให้จัดทำเป็นพระราชกฤษฎีกา” และโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ดังกล่าว จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและหัวหน้าส่วนราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2520 ออกใช้บังคับ มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้บัญญัติว่า กรุงเทพมหานคร มีส่วนราชการตามที่ระบุในมาตรานี้ ซึ่งมีจำนวน 15 ส่วนราชการ และมาตราต่อ ๆ ไปได้บัญญัติถึงหน่วยงานภายในส่วนราชการหนึ่ง ๆ ว่ามีหน่วยงานใดบ้าง ดังนี้ส่วนราชการของกรุงเทพมหานครก็คือส่วนราชการ 15 ส่วนราชการ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภายในส่วนราชการที่กล่าวนี้เท่านั้น แต่ปรากฏว่าในจำนวนส่วนราชการและหน่วยงานดังกล่าว หามีสำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานคร รวมอยู่ด้วยไม่ทั้งได้ความว่าสำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินกิจการบางประเภทของเทศบาล พ.ศ. 2509 มิได้จัดตั้งขึ้นโดยทำเป็นพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 11 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 แต่อย่างใด สำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานครจึงมิใช่ส่วนราชการของกรุงเทพมหานคร หาได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 บังคับไม่ ฉะนั้น กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของสำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างของโจทก์จึงอาจถูกฟ้องให้รับผิดจ่ายค่าชดเชยได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และที่จำเลยที่ 1 อ้างต่อไปว่า ทรัพย์สินของสำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลยที่ 1 ไม่อาจแบ่งแยกเพื่อดำเนินการบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานได้นั้นเห็นว่าเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีว่าจะยึดทรัพย์สินใดได้บ้าง ไม่มีผลถึงอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ย กรุงเทพมหานครตามลำดับ แม้เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ 1 และกระทำการตามหน้าที่ระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่เมื่อเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ก็ต้องมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 การไม่จ่ายค่าชดเชยถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในฐานะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการสำนักงานปุ๋ยกรุงเทพมหานครตามลำดับ หาได้ฟ้องตำแหน่งหน้าที่เป็นจำเลยไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงอาจถูกฟ้องให้จ่ายค่าชดเชยได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น อนึ่ง คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ด้วย เป็นการผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”