แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 มาบอกผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจะมาปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ต่อมาอีกไม่กี่ชั่วโมง จำเลยที่ 1 และที่3 ถืออาวุธปืน จำเลยที่ 2 ถือมีดปลายแหลมเข้ามาในร้านผู้เสียหายพร้อมด้วยจำเลยที่ 4 กับพวก จำเลยที่ 1 จับแขนผู้เสียหายและถามถึงที่ซ่อนทรัพย์ แม้จำเลยทั้งสี่กับพวกมิได้แตะต้องตัวทรัพย์ของผู้เสียหายที่ตั้งใจจะเอาไปและทรัพย์ยังไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปจากที่เก็บก็ตาม ถือว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339(1) และ (2) แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายได้หลบหนีออกจากร้านและร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเสียก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8083, 340, 340 ตรี, 32, 91 และ 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 249มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ ริบของกลาง เว้นแต่อาวุธปืนลูกซองเบอร์ 12 หมายเลขทะเบียน พช6-03978 กับกระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12จำนวน 2 นัด ให้คืนเจ้าของกับให้นับโทษของจำเลยทั้งสี่ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1267/2529ของศาลจังหวัดเพชรบูรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธทุกข้อหาและรับว่าเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1267/2529 ของศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับให้การใหม่เป็นว่า ปฏิเสธเฉพาะข้อหาพยายามปล้นทรัพย์ ส่วนข้อหาอื่นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 และ72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนจำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 4 เดือนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 8 เดือน อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 มีไว้เป็นความผิดให้ริบ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ให้ปรับ 80 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับเป็นเงิน 40 บาท ริบมีดของกลาง จำเลยที่ 3มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7 และ 72จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,500 บาท รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางที่จำเลยที่ 3 มีไว้ให้คืนแก่เจ้าของให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในข้อหาพยายามปล้นทรัพย์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 โดยจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่งและ 72 ทวิ วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 7 และ 72วรรคสามกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 83 จำคุกคนละ 8 ปีจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกคนละ 12 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าในวันเกิดเหตุเวลากลางวัน จำเลยที่ 3 มาบอกผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 1กับพวกจะมาปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกาผู้เสียหายซึ่งอยู่ที่ร้านค้าของตนเพียงคนเดียวได้ออกไปถ่ายปัสสาวะที่หลังร้าน จำเลยทั้งสี่กับพวกอีก 1 คน เข้ามาหาผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถืออาวุธปืนลูกซองพก จำเลยที่ 2 ถือมีดปลายแหลจำเลยที่ 1 จับแขนผู้เสียหายพาเข้ามาในร้าน จำเลยอื่นอีก 3 คนกับพวกก็เข้ามาในร้านด้วย จำเลยที่ 1 ถามถึงที่ซ่อนทรัพย์ผู้เสียหายบอกว่าเก็บใส่กุญแจไว้ ลูกกุญแจอยู่ที่ภริยา จำเลยที่ 3บอกผู้เสียหายว่าให้บอกที่ซ่อนทรัพย์ไปเพราะจำเลยที่ 1 มิได้มาร้ายผู้เสียหายก็ไม่ยอมบอก พอมีจังหวะที่จะหนีได้ ผู้เสียหายก็วิ่งหนีออกไปทางหลังร้านและร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จำเลยทั้งสี่กับพวกจึงพากันวิ่งหนีไป ในขณะนั้นผู้เสียหายเก็บทรัพย์ต่าง ๆที่โจทก์ระบุในฟ้องไว้ในร้านที่เกิดเหตุ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่กับพวกเข้ามาในร้านผู้เสียหายโดยมีเจตนาตั้งใจจะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ในร้านนั้นไป การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถืออาวุธปืน จำเลยที่ 2 ถือมีดปลายแหลมเข้ามาในร้านดังกล่าวพร้อมจำเลยที่ 4 กับพวก จำเลยที่ 1 จับแขนผู้เสียหายและถามถึงที่ซ่อนทรัพย์เช่นนี้ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องจำเลยที่ 3 มาบอกผู้เสียหายล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจะมาปล้นแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่กับพวกมิได้แตะต้องตัวทรัพย์ของผู้เสียหายที่ตั้งใจจะเอาไปและทรัพย์ยังไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปจากที่เก็บก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา339(1) และ (2) แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายได้หลบหนีออกจากร้านและร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเสียก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์มาชอบแล้ว
พิพากษายืน.