คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การระบุไว้ในเอกสารที่ทำขึ้นว่าเป็นหนังสือพินัยกรรมและมีบุคคลหลายคนเซ็นเป็นพยานลุกนั่ง และได้กล่าวถึงกิริยาอาการของผู้ทำเอกสารว่าเป็นปกติ เหล่านี้ เป็นไปตามแบบแห่งการทำพินัยกรรมโดยทั่วๆไป เมื่อฟังประกอบกับเจตนาของผู้ทำที่ปรากฏในเอกสารทั้งฉบับรวมกัน เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายแล้ว ก็ย่อมเข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมตามกฎหมายโดยชอบ
ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้วัดโดยเจ้าอาวาสลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนั้นหาทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไม่ เพราะวัดเป็นนิติบุคคล จึงย่อมเป็นอีกบุคคลหนึ่งต่างหากจากเจ้าอาวาส แม้เจ้าอาวาสจะเป็นผู้แทนของวัด และความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลก็ดี ก็ไม่มีผลทางกฎหมายให้เจ้าอาวาสกับวัดรวมมาเป็นบุคคลคนเดียวกันได้ จึงไม่ถือว่าวัดเป็นพยานในพินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเขียว ขึ้นในเมือง ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนด 764 พร้อมห้องแถว 9 ห้องให้โจทก์ นายเขียวถึงแก่กรรมแล้วแต่จำเลยขัดขวางการโอนจึงขอให้บังคับ

จำเลยให้การว่า เอกสารที่นายเขียวทำขึ้นไม่ใช่พินัยกรรมและเจ้าอาวาสลงชื่อในเอกสารดังกล่าวด้วย จึงเป็นโมฆะ และให้การต่อสู้ข้ออื่น ๆ อีกหลายประการ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าเอกสารที่โจทก์อ้างไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมและเจ้าอาวาสผู้แทนของวัดบึงนั่งเป็นพยานในพินัยกรรม ย่อมถือเสมือนวัดบึงนั่งเป็นพยานในพินัยกรรมเอง จึงเป็นโมฆะ ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างไม่ใช่พินัยกรรมจึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เอกสารที่โจทก์อ้างมีความว่าดังนี้

หนังสือพินัยกรรม

ทำที่บ้านเลขที่ 2072

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2495

ข้าพเจ้า นายเขียว ชิ้นในเมือง อายุ 83 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้นิมนต์และเชิญพระสีหราชสมาจารมุนี วัดบึง พระอริยเวที วัดสุทธจินดา พระกิตติรามุนี พระครูศีลสารวิสุทธิ์ วัดพระนารายณ์มหาราชพระอาจารย์แถว วัดสระแก้ว และนายตาด พรหมจรรยา นายดี สังกิตติวรรณนายแสง ปันทวังกูณ นายสิงทอง ศิวารัตน์ มานั่งเป็นประธานในการที่ข้าพเจ้าจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นส่วนของข้าพเจ้าถวายไว้กับวัดให้เป็นสมบัติของวัด ดังข้อความจะกล่าวต่อไปนี้

1, 2, 3 ฯลฯ (คือ ถวายที่ดินทั้ง 3 รายการนี้ให้แก่วัดพระนารายณ์มหาราช)

4. ที่ดินอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาตามโฉนดที่ 764 พร้อมด้วยห้องแถวเลขที่ 584 ถึง 592 รวม 9 ห้องข้าพเจ้าขอถวายไว้กับวัดบึง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา(ให้เป็นสมบัติของวัดบึง)

5, 6 ฯลฯ (คือ ถวายที่ดินให้วัดสุทธจินดา วัดสระแก้วตามลำดับ)

อนึ่ง ทรัพย์ดังกล่าวแล้วนี้ ถ้าขายได้ราคา ข้าพเจ้าก็จะขายแบ่งเงินให้วัดบำรุงวัดครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งข้าพเจ้าจะเอาทำบุญ

ขอท่านที่มานั่งเป็นประธาน จงเป็นพยานแห่งถ้อยคำของข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าได้เขียนชื่อลงลายมือชื่อให้ไว้เป็นสำคัญ

(ลงชื่อ) นายเขียว ชิ้นในเมือง ผู้ทำพินัยกรรม

ทันใด ผู้นั่งเป็นประธานและพยานได้สังเกตดูกิริยาอาการของนายเขียว ชิ้นในเมือง เห็นว่าไม่มีการเจ็บป่วยแต่อย่างใดมีสติเป็นปกติอยู่ และได้อ่านหนังสือพินัยกรรมนี้ให้ฟัง 3 ครั้งรับว่าถูกต้อง จึงได้พร้อมกันลงชื่อไว้เป็นสำคัญ หนังสือพินัยกรรมทำเป็น 10 ฉบับ ให้ผู้เป็นประธานและพยานที่ลงนามในหนังสือนี้ถือไว้คนละ 1 ฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมถือไว้ 1 ฉบับ ข้อความอย่างเดียวกัน

(ลงชื่อ) พระสีหราชสมาจารมุนี ประธาน

(ลงชื่อ) ฯลฯ (คนอื่นอีก 8 คน) พยาน

ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า โดยรูปแห่งเอกสารนี้ โดยทั่วไปแสดงให้เห็นเจตนาของนายเขียวว่าเจตนาทำเป็นพินัยกรรมยกทรัพย์ตามระบุไว้ให้แก่วัดต่าง ๆ เพราะเหตุว่าการที่เอกสารนี้ใช้คำว่า “หนังสือพินัยกรรม” ก็ย่อมเป็นไปตามความเข้าใจของสามัญชนทั่วไปว่าเป็นหนังสือยกให้เมื่อตายแล้ว การยกทรัพย์ให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้น คนทั้งหลายย่อมไม่ใช้คำว่าพินัยกรรมนอกจากนี้นายเขียวยังได้นิมนต์และเชิญพระภิกษุสงฆ์ผู้ใหญ่และคหบดีที่นับถือมาเป็นพยานลุกนั่งตามแบบแผนแห่งการทำพินัยกรรมทั่ว ๆ ไปที่นิยมกันอยู่ และยังปรากฏในเอกสารว่าประธานและพยานสังเกตกิริยาอาการของนายเขียวเห็นว่ามีสติดี และอ่านให้ฟัง 3 ครั้งทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า เป็นไปตามแบบแห่งการนั่งพินัยกรรมโดยทั่ว ๆ ไป จึงเห็นว่า เมื่อเพ่งเล็งถึงเจตนาของนายเขียวตามข้อความในเอกสารประกอบกับรูปแห่งออกสารนี้โดยทั่วไปดังกล่าวแล้ว แสดงว่านายเขียวเจตนาทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้วัดเมื่อตนตายแล้วแน่นอนหาใช่เจตนายกทรัพย์เหล่านี้ถวายวัดในขณะที่ทำหนังสือนี้ไม่ การกำหนดการเผื่อตายนั้น ผู้ทำพินัยกรรมไม่จำต้องระบุไว้ตามถ้อยคำนั้น ๆ โดยเฉพาะเจาะจงเสมอไป หากถ้อยคำและความหมายในเอกสารทั้งฉบับรวมกันแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการกำหนดการเผื่อตายแล้วก็ย่อมเข้าลักษณะตามบทกฎหมายนี้โดยชอบ จริงอยู่ เพียงใช้คำว่า “พินัยกรรม” อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ในกรณีที่ความอื่น ๆ ในเอกสารนั้นมุ่งแสดงไปทางอื่นโดยชัดแจ้ง เช่นเป็นการยกให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นต้น แต่เอกสารในคดีนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเนื้อความทั้งหมดแห่งเอกสารแสดงไปทางเดียวว่า นายเขียวเจตนาทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้

ข้อความในเอกสารตอนท้ายที่ว่า “อนึ่ง ทรัพย์ดังกล่าวนี้ ถ้าขายได้ราคาข้าพเจ้าก็จะขายแบ่งเงินให้วัด บำรุงวัดครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งข้าพเจ้าจะเอาทำบุญ” ซึ่งศาลล่างทั้งสองแปลมาว่า เป็นการแสดงประกอบเจตนาว่าเป็นการยกให้เมื่อมีชีวิตอยู่ จึงมิใช่กรณีที่กำหนดการเผื่อตายนั้น ศาลฎีกากลับเห็นว่า ถ้าเป็นการยกให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ นายเขียวจะเอาทรัพย์เหล่านี้มาขายได้อย่างไรการที่ขายได้ราคาก็จะขาย ย่อมแสดงว่าทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นของนายเขียวอยู่ตลอดไป จนนายเขียวตายจึงจะยกเป็นของวัด ฉะนั้นข้อความนี้ยิ่งแสดงประกอบเจตนาให้เห็นชัดว่านายเขียวทำเอกสารนี้เป็นพินัยกรรม

ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อตัดฟ้องเรื่องผู้รับทรัพย์เป็นพยานในพินัยกรรมเสียด้วย ในข้อนี้ เมื่อปรากฏว่าวัดเป็นนิติบุคคลก็ย่อมเป็นอีกบุคคลหนึ่งต่างหากจากเจ้าอาวาสแม้เจ้าอาวาสจะเป็นผู้แทนของวัด และความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนทั้งหลายของนิติบุคคลก็ดี ก็หามีผลทางกฎหมายให้พระภิกษุเจ้าอาวาสกับวัดรวมมาเป็นบุคคลคนเดียวกันไม่ เมื่อเช่นนี้จะไปถือเสมือนหนึ่งว่าวัดบึงซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไปนั่งเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นเองไม่ได้ บทบัญญัติมาตรา 1653 เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิบุคคล จึงต้องแปลโดยเคร่งครัด และทรัพย์ตามพินัยกรรมนี้จะตกเป็นของวัดบึงหรือไม่ ก็หามีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนตัวเจ้าอาวาสไม่ อีกทั้งอาจเป็นได้ว่า เมื่อถึงเวลารับทรัพย์ตามพินัยกรรมเข้าจริง ๆ เจ้าอาวาสวัดบึงอาจเป็นผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าอาวาสองค์ที่เป็นพยานในพินัยกรรมนี้ก็ได้ พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้เป็นโมฆะเสียเปล่า

ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเสียให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป

Share