คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งนายกรัฐมนตรีตาม ม.17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ.2515 ให้คณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการค้ากำไรเกินควรออกคำสั่งควบคุมปริมาณและสถานที่เก็บเหล็กเส้น ถ้าแจ้งไม่ตรงความจริงให้คณะกรรมการริบและขายแก่ประชาชนได้ปรากฏว่าโจทก์แจ้งปริมาณเหล็กเส้นขาดจากปริมาณจริงเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการมีคำสั่งริบ ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการทำการโดยไม่สุจริตใจ โจทก์ไม่อาจโต้แย้งได้

ย่อยาว

โจทก์เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้แจ้งปริมาณเหล็กผิดความจริง จำเลยจึงสั่งริบตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2515 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งและเรียกค่าเสียหาย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่าคณะกรรมการจำเลยกระทำการพิจารณาโดยสุจริตหรือไม่ และมีสิทธิสั่งริบเหล็กเส้นของโจทก์เพียงใดหรือไม่ นั้น โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บเหล็กเส้นของโจทก์ต่อคณะกรรมการจำเลยทราบทันที คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำโดยชัดเจตนารมย์ของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ สลร.3/2517 ศาลฎีกาเห็นว่า ปรากฏตามข้อ 1 ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.3/2517 ลงวันที่ 9 มกราคม 2517 ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช2515 ว่า เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขการขาดแคลนและป้องกันการค้ากำไรเกินควรให้คณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรมีอำนาจออกคำสั่งบังคับให้บุคคลแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บซึ่งสิ่งของใดในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดหรือหลายท้องที่ได้ ฯลฯ ตามข้อ 2 ว่า เมื่อคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรตรวจพบว่ามีสิ่งของในความครอบครองของบุคคลใดโดยไม่แจ้งปริมาณหรือสถานที่เก็บ หรือแจ้งปริมาณหรือสถานที่เก็บไม่ตรงตามความเป็นจริงตามคำสั่งดังกล่าวในข้อ 1ให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรมีอำนาจริบสิ่งของดังกล่าวทั้งหมดและนำไปขายแก่ประชาชน ฯลฯเมื่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวให้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการไว้เช่นนี้และคณะกรรมการกลางป้องกันการค้ากำไรเกินควรซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควร อาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.3/2517 ออกประกาศ (ฉบับที่ 75) พ.ศ. 2517 ลงวันที่ 8 มกราคม 2517 กำหนดให้ผู้ผลิต เจ้าของ หรือผู้ครอบครองเหล็กเส้นขนาดตั้งแต่ 6 -15 มิลลิเมตร มีน้ำหนักรวมกัน ตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไป แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 แล้ว ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์แจ้งปริมาณเหล็กเส้นไว้ดังนี้ คือขนาด 8มิลลิเมตร จำนวน 1,700 เส้น ขนาด 12 มิลลิเมตร จำนวน 3,500 เส้นและขนาด 15 มิลลิเมตรจำนวน 2,800 เส้น รวม 8,000 เส้น หนัก 78.5 ตันแต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ไปตรวจนับเหล็กเส้นที่บริษัทซึ่งเป็นสถานที่เก็บตามที่โจทก์แจ้งไว้ ปรากฏว่ามีเหล็กเส้นดังนี้ คือขนาด 9 มิลลิเมตร จำนวน 3,860 เส้น ขนาด 12 มิลลิเมตร 3,475เส้น และขนาด 15 มิลลิเมตร จำนวน 2,648 เส้น รวม 9,983 เส้น หนัก86 ตัน 926.60 กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่าที่แจ้งไว้ 1,983 เส้น คิดเป็นน้ำหนัก 8 ตัน426.60 กิโลกรัม ดังเอกสารหมาย จ.29 และ ล.1 แสดงว่าโจทก์แจ้งปริมาณเหล็กเส้นของโจทก์ไม่ตรงตามความเป็นจริง การที่โจทก์แจ้งปริมาณไม่ตรงตามความเป็นจริงตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นเป็นจำนวนมากคณะกรรมการจำเลยจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดริบเหล็กเส้นของโจทก์ทั้งหมดได้ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขการขาดแคลนและป้องกันการค้ากำไรเกินควรตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้น โจทก์จะอ้างว่ามีเหล็กเส้นไว้ในความครอบครองเพื่อใช้ในการก่อสร้างหรือมิได้กักตุนไว้เพื่อจำหน่ายค้ากำไรหาได้ไม่ ที่โจทก์อ้างว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า คณะกรรมการจำเลยวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งไปโดยไม่สุจริตและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไร ดังนั้นจึงต้องฟังว่าคณะกรรมการจำเลยได้กระทำไปโดยสุจริตและปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบ เมื่อคณะกรรมการจำเลยมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไม่คืนเหล็กเส้นให้โจทก์เป็นไปโดยสุจริตและปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบ โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาโจทก์ที่ว่า พฤติการณ์ที่โจทก์กระทำเป็นการกักตุนสินค้าเหล็กเส้นไว้เพื่อค้ากำไรเกินควรที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่”

พิพากษายืน

Share