คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายและพ. ลูกจ้างโจทก์กับม. ภริยาซึ่งโดยสารไปในรถยนต์ของโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายจนต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ของโจทก์เท่านั้นส่วนการที่พ.กับม. ได้รับอันตรายแก่กายนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่1กระทำละเมิดต่อพ. และม. โดยตรงมิได้กระทำต่อโจทก์การที่โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่พ.และม. ไปเป็นการจ่ายตามระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ให้แก่ลูกจ้างรวมทั้งคู่สมรสของลูกจ้างโจทก์ไม่มีกฎหมายให้โจทก์ในฐานะนายจ้างมีสิทธิหรือรับช่วงสิทธิจากลูกจ้างและคู่สมรสที่จะมาเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนจากผู้กระทำละเมิดต่อลูกจ้างและคู่สมรสได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกเงินค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 39 หมายเลขทะเบียน 11-2367กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเข้าร่วมรับส่งคนโดยสารหาประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 3 มาตามถนนพหลโยธินจากสะพานบางบัวมุ่งหน้ามาทางสามแยกเกษตร โดยจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจตราห้ามล้อมือและห้ามล้อเท้าของรถคันดังกล่าวว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ให้ความปลอดภัยในการขับขี่ในถนนสาธารณะอันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณสามแยกเกษตร รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับได้ชนท้ายรถสามล้อคันหนึ่งกับรถยนต์อีกคันหนึ่งก่อนแล้วแล่นไปชนท้ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ง-2396 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดรถสัญญาณไปจราจรอยู่ตรงบริเวณสามแยกดังกล่าวอีกคันหนึ่งทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ง-2396 กรุงเทพมหานคร กระดอนไปชนท้ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ฉ-2292 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์อีกต่อหนึ่งแล้วรถยนต์ของโจทก์กระเด็นไปถูกรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3ย-2217กรุงเทพมหานคร ทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3ย-2217 กรุงเทพมหานครกระเด็นไปชนท้ายรถยนต์คันอื่นที่จอดอยู่ข้างหน้าต่อเนื่องกันไปหลายคัน เหตุชนกันทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายรายการรวมทั้งคัสซีด้วย โจทก์ต้องซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ที่ชำรุดเสียหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 161,068 บาท ใช้เวลาซ่อมนานถึง 40 วันทำให้โจทก์ต้องหารถยนต์อื่นมาใช้แทนคิดเป็นค่าเสียหายวันละ 300 บาทเป็นเงิน 12,000 บาท และหลังจากซ่อมเสร็จแล้วรถยนต์ของโจทก์มีสภาพไม่ดีเหมือนเดิมเพราะคัสซีคดทำให้รถเสียการทรงตัวคิดค่าเสื่อมสภาพเป็นเงิน 50,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเอ็กซเรย์ตามระเบียบสวัสดิการของโจทก์แก่นายพรเทพ พรประภา กรรมการของโจทก์และนางมยุรี พรประภาภริยาของนายพรเทพ ซึ่งโดยสารไปในรถยนต์คันเกิดเหตุของโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายเป็นเงิน 8,900 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 231,968 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 231,968 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า เหตุรถยนต์ชนกันไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ง-2396 กรุงเทพมหานคร และผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9ฉ-2292 กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่างขับด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้ชนกันเอง โจทก์เรียกค่าเสื่อมราคารถยนต์ของโจทก์ไม่ได้เพราะรถยนต์ของโจทก์ไม่ได้เสื่อมสภาพโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาล ค่าเอ็กซ์เรย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 203,068 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลนายพรเทพและนางมยุรีจำนวน 8,900 บาทเพราะการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้นายพรเทพและนางมยุรีได้รับอันตรายแก่กายก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อนายพรเทพและนางมยุรีโดยตรงมิได้กระทำต่อโจทก์การที่โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่นายพรเทพและนางมยุรีก็เป็นการจ่ายตามระเบียบของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายและนายพรเทพลูกจ้างโจทก์กับนางมยุรีภริยาซึ่งโดยสารไปในรถยนต์ของโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายจนต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไป 8,900 บาทนั้น เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ของโจทก์เท่านั้น ส่วนการที่นายพรเทพกับนางมยุรีได้รับอันตรายแก่กายนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อนายพรเทพและนางมยุรีโดยตรงมิได้กระทำต่อโจทก์ การที่โจทก์จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่นายพรเทพและนางมยุรีไป8,900 บาท ก็เป็นการจ่ายตามระเบียบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ให้แก่ลูกจ้างรวมทั้งคู่สมรสของลูกจ้างโจทก์ไม่มีกฎหมายให้โจทก์ในฐานะนายจ้างมีสิทธิหรือรับช่วงสิทธิจากลูกจ้างและคู่สมรสที่จะมาเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนจากผู้กระทำละเมิดต่อลูกจ้างและคู่สมรสได้ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 8,900 บาท ที่จ่ายไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้เงินส่วนนี้แก่โจทก์จึงไม่ชอบฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในค่าซ่อมรถยนต์ 161,068 บาท ค่าเสื่อมราคา30,000 บาท และค่าเช่ารถยนต์คันอื่นมาใช้ระหว่างซ่อมรถยนต์โจทก์12,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 203,068 บาท เท่านั้น ไม่ได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดในเงินค่ารักษาพยาบาล 8,900 บาทจึงไม่อาจหักเงินค่ารักษาพยาบาล 8,900 บาท จากยอดค่าเสียหาย203,068 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในผล”
พิพากษายืน

Share