คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ล. ผู้ตาย โดยอ้างว่าจำเลยเป็นบุตรของ ล. โจทก์ค้านว่าจำเลยไม่ใช่บุตรของ ล. ปัญหาว่าจำเลยเป็นบุตรของล.หรือไม่จึงเป็นประเด็นโดยตรงและสำคัญแห่งคดี ซึ่งศาลจำเป็นต้องวินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นเรื่องที่จะให้ไปฟ้องร้องกันอีกคดีหนึ่งไม่ เพราะถ้าคดีฟังได้ว่าจำเลยไม่ใช่บุตรของ ล. ก็ย่อมไม่ใช่ทายาท ไม่มีอำนาจร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก คำร้องของจำเลยต้องยกเสียถ้าหากคดีฟังได้ในทางตรงข้าม คือฟังว่าจำเลยเป็นบุตร ล. จำเลยก็เป็นทายาทในลำดับผู้สืบสันดาน ส.ซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่ บ. ซึ่งเป็นทายาทในลำดับน้องร่วมบิดาเดียวกับ ล. ผู้ตาย
ส.ซึ่งเป็นโจทก์เป็นผู้รับมรดกแทนที่ บ.ซึ่งเป็นทายาทในลำดับเดียวกับจำเลย ส.ย่อมมีสิทธิรับมรดกและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้เท่าเทียมกับจำเลย
โจทก์ร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมทรัพย์บางอย่าง ฝ่ายจำเลยคัดค้านว่าพินัยกรรมปลอม. จึงต้องวินิจฉัยปัญหาว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ถ้าฟังได้ว่าพินัยกรรมไม่ปลอม โจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ถ้าฟังได้ว่าพินัยกรรมปลอม คำร้องของโจทก์ก็ต้องยก เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยชอบธรรมและในฐานะผู้รับพินัยกรรม
คดีของโจทก์เป็นเรื่องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก โดยโจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นผู้รับพินัยกรรม เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 50 บาทเท่านั้น โจทก์หาได้เรียกร้องเอาทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมมาด้วยไม่จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์ในพินัยกรรม

ย่อยาว

ผู้ร้องแต่ละสำนวนต่างยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของนางลุ้ยผู้ตาย และต่างคัดค้านซึ่งกันและกัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินคดีทั้งสองไปอย่างคดีมีข้อพิพาทโดยรวมพิจารณาและเรียกผู้ร้องในสำนวนแรกว่าโจทก์เรียกผู้ร้องทั้งสามในสำนวนหลังว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่านางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยเป็นบุตรผู้ตายไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก พิพากษาตั้งโจทก์กับนายสุขนายทองหล่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนางลุ้ย ให้ยกคำร้องของนางอาภรณ์หรือสมพรจำเลย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ประเด็นเรื่องนางอาภรณ์จำเลยเป็นบุตรนางลุ้ยหรือไม่ กับพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ตั้งให้โจทก์ นายสุข นายทองหล่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา ขอให้ยกคำร้องโจทก์และตั้งจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกแต่ฝ่ายเดียว
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามลำดับก่อนหลัง คือ
๑. นางอาภรณ์หรือสมพรจำเลย เป็นบุตรนางลุ้ยผู้ตายหรือไม่
๒. พินัยกรรมที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่านางลุ้ยผู้ตายทำยกทรัพย์บางอย่างตามบัญชีทรัพย์หมาย ก. ให้นางสาวสมศรี นั้น เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่
ในประเด็นข้อ ๑ ตามฎีกาจำเลยนั้น สืบเนื่องจากจำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางลุ้ยโดยอ้างว่านางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยเป็นบุตรนางลุ้ยผู้ตาย ฝ่ายโจทก์คัดค้านว่านางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยไม่ใช่บุตรนางลุ้ย ปัญหาว่านางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยเป็นบุตรนางลุ้ยจริงหรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงและสำคัญแห่งคดี ซึ่งศาลจำเป็นจะต้องวินิจฉัยชี้ขาด หาใช่เป็นเรื่องที่จะต้องให้ไปฟ้องร้องกันอีกคดีหนึ่งไม่ เพราะถ้าหากคดีฟังได้ว่านางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยไม่ใช่บุตรนางลุ้ย นางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยก็ไม่ใช่ทายาท ไม่มีสิทธิรับมรดก ไม่มีอำนาจร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก คำร้องของนางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยต้องยกเสีย โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ ๒ว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เพราะฝ่ายโจทก์จะเป็นผู้รับพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏจากบัญชีเครือญาติท้ายคำร้องของโจทก์จำเลยฟังได้ต้องกันว่า นางสาวสมศรีโจทก์เป็นผู้รับมรดกแทนที่นายบพิธบิดาซึ่งเป็นทายาทในลำดับเดียวกับนายสุข นายทองหล่อจำเลยนางสาวสมศรีโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิรับมรดกและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้เท่าเทียมกับนายสุขและนายทองหล่อจำเลยอยู่แล้ว
แต่ถ้าหากคดีฟังได้ในทางตรงกันข้าม คือ ฟังว่านางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยเป็นบุตรนางลุ้ย นางอาภรณ์หรือสมพรจำเลยก็เป็นทายาทในลำดับผู้สืบสันดาน นางสาวสมศรีโจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายบพิธบิดาซึ่งเป็นทายาทในลำดับน้องร่วมบิดาเดียวกับนางลุ้ยผู้ตาย แต่โดยเหตุที่โจทก์ร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่านางสาวสมศรีโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมทรัพย์บางอย่างตามบัญชี ก.ท้ายคำร้องมาด้วย ฝ่ายจำเลยคัดค้านว่าพินัยกรรมนั้นปลอม ก็ถึงปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามในฎีกาข้อ ๒ ว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ถ้าฟังได้ว่าพินัยกรรมไม่ปลอม นางสาวสมศรีโจทก์ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ถ้าฟังได้ว่าพินัยกรรมปลอม คำร้องของโจทก์ก็ต้องยก เพราะนางสาวสมศรีโจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้รับพินัยกรรม
อนึ่ง คดีของโจทก์เป็นเรื่องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก โดยโจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นผู้รับพินัยกรรม เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลห้าสิบบาทเท่านั้น โจทก์หาได้เรียกร้องเอาทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมมาด้วยไม่ จึงไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์ในพินัยกรรม ที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาห้าสิบบาทจึงเป็นการถูกต้อง อันศาลจะพึงรับวินิจฉัยคดีของโจทก์ได้แล้ว
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ตามลำดับประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้น แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี.

Share