คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในสัญญาบ่งว่าก่อนที่จำเลยจะส่งไม้ลงเรือเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องไปทำการรังวัดตรวจไม้กำหนดเครื่องหมายก่อน.เมื่อโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนแล้วและจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่กลับปรากฏว่าจำเลยเตรียมเลื่อยไม้ไว้ตามสัญญาแล้วหากโจทก์ไม่ส่งคนไปวัดไม้จนกระทั่งจำเลยได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำแล้วโจทก์ยังมีหนังสือขอความเห็นใจให้จำเลยผ่อนผันยืดอายุสัญญาต่อไปอีกเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองจำเลยจึงไม่ชำระหนี้ เป็นพฤติการณืที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบหาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่
ม.204 เป็นเรื่องลูกหนี้ผิดนัดเป็นคนละเรื่องกับการบอกเลิกสัญญาซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม ม.387.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนบริษัทโรงเลื่อยจักรให้เฮงเสง ระหว่างวันที่ ๑๐ มกราคม ถึงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๙๓ โจทก์ได้จ่ายเงินทดรองให้จำเลย ๕ ครั้ง เงิน ๓๑๕,๐๐๐ บาท เพื่ออุตสาหกรรมเลื่อยไม้ของจำเลยจะขายให้โจทก์แต่จำเลยไม่ได้ขายไม้ให้ จึงขอให้ศาลบังคับคืนเงิน ๓๑๕,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้ง ๔ คน (โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒) ต่อสู้ว่าโจทก์วางเป็นเงินมัดจำที่ทำสัญญาซื้อขายไม้กัน โจทก์ผิดสัญญาไม่มารับไม้ ไม่ชำระราคา จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาในข้อ ก.ม. ว่าการชำระหนี้ที่จำเลยต้องส่งไม้ได้กำหนดไว้ตามวันแห่งปฏิทินแน่นอนแล้วจำเลยไม่ส่งจึงเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์บอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนตาม ม.๒๐๔ วรรค ๒ แห่ง ป.พ.พ.
ศาลฎีกาเห็นว่า ม.๒๐๔ เป็นเรื่องลูกหนี้ผิดนัดคนละเรื่องกับการบอกเลิกสัญญาซึ่งจะต้องทำตาม ม.๓๘๗.แม้แต่ตาม ม.๒๐๔ ที่โจทก์อ้างมาศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เมื่อพิจารณาใจความในสัญญาโดยตลอดแล้วจะเห็นได้ว่าก่อนที่จำเลยจะส่งไม้ลงเรือนั้นย่อมเป็นหน้าที่โจทก์จะต้องไปทำการวัดและตรวจไม้และกำหนดตราเครื่องหมายเสียก่อนรวมตลอดทั้งแจ้งให้จำเลยทราบด้วยว่าจะต้องส่งไปบรรทุกเรือลำใด,ในคดีนี้โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ครบถ้วนแล้วและจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ตรงกันข้ามตามเอกสารที่ปรากฏในสำนวนกลับแสดงชัดว่าจำเลยได้เตรียมเลื่อยไม้ไว้ตามสัญญาแล้ว แต่ฝ่ายโจทก์ไม่ส่งคนไปวัดไม้ตามสัญญาจนจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำที่วางไว้ แล้วโจทก์ยังได้มีหนังสือหมาย ล.๑๐ ขอให้จำเลยเห็นใจและผ่อนผันให้โจทก์ได้ยืดอายุสัญญาต่อไปอีก จึงแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง จำเลยจึงไม่ชำระหนี้ เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ หาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่
พิพากษายืน.

Share