คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5636/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโทภายในประเทศจนจบการศึกษาแล้ว แต่ยังรับราชการชดใช้ทุนไม่ครบถ้วนก็ได้รับทุนให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศตามความต้องการของ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการอีก หลังจากจบการศึกษาแล้วกรมวิชาการได้ขอโอนพ. จากกรมการศึกษาฝึกหัดครูโจทก์ซึ่งพ. รับราชการอยู่ไปรับราชการที่กรมวิชาการเพื่อชดใช้ทุนสำหรับการลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนกระทั่งครบตามสัญญา และอนุญาตให้พ. ลาออกจากราชการ โดยเวลาที่รับราชการนั้นไม่พอที่จะใช้ทุนทั้งสองรายได้ครบถ้วน เป็นการจัดให้พ. เข้ารับราชการชดใช้ทุนสำหรับการลาศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะแล้วและถือได้ว่าเป็นกรณีที่พ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้เข้ารับราชการชดใช้ทุนโดยระบุว่าเป็นการชดใช้ทุนสำหรับ การลาศึกษาต่อต่างประเทศอันจะต้องบังคับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่งที่จะต้อง ให้หนี้รายนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อนหนี้รายที่พ. ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อภายในประเทศ เมื่อพ. ได้ปฏิบัติราชการที่กรมวิชาการชดใช้ทุนครบตามสัญญารายนี้แล้ว พ.จึงไม่ผิดสัญญาศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันเมื่อพ.ไม่ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของทุนในการส่งนางพรทิพา(เฮอร์แมน) เพ็ชรรัตน์ ไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2520 จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์เข้าเป็นผู้ค้ำประกันนางพรทิพาข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ 4 ตำแหน่งอาจารย์ 1 วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลกกรมการฝึกหัดครู ซึ่งได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกามีกำหนด 2 ปี ตามสัญญาลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ ลงวันที่ 19ธันวาคม 2520 โดยจำเลยสัญญาว่า ถ้านางพรทิพาผิดสัญญาด้วยประการใดๆ จำเลยยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามความรับผิดของนางพรทิพาตามสัญญาดังกล่าวทุกประการโจทก์จึงยอมให้นางพรทิพาเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2522 เป็นเวลา1 ปี 8 เดือน 15 วัน ซึ่งตามสัญญานางพรทิพาต้องกลับมารับราชการใช้หนี้ทุน 2 เท่า เป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน ต่อมาวันที่23 ธันวาคม 2521 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2521 และวันที่ 10กันยายน 2522 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2526 นางพรทิพาได้กลับมารับราชการใช้หนี้ทุนรวมเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน 24 วันแต่ปรากฏว่าก่อนลาไปศึกษาต่อต่างประเทศ นางพรทิพาเคยลาศึกษาต่อภายในประเทศและมีหนี้ทุนที่ต้องชำระก่อนเป็นเวลา3 ปี 1 เดือน 14 วัน จึงคงเหลือเวลารับราชการใช้หนี้ทุนลาศึกษาต่อต่างประเทศเพียง 4 เดือน 10 วัน ยังขาดอยู่อีก 3 ปี20 วัน ต่อมา วันที่ 1 มีนาคม 2526 นางพรทิพาได้ลาออกจากราชการในระหว่างที่ยังรับราชการใช้หนี้ทุนไม่ครบตามสัญญาจึงเป็นการผิดสัญญา ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนพร้อมเบี้ยปรับอีก 1 เท่า รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 781,742.80 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญาคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,372,226.33 บาท โจทก์ได้ทวงถามไปยังนางพรทิพาและจำเลยแล้ว แต่ทั้งสองคนเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,372,226.33 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2519ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2520 นางพรทิพาอาจารย์วิทยาลัยครูพิบูลสงครามได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโทภายในประเทศ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมานางพรทิพาได้รับทุนของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2522รวมเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน 15 วัน โดยได้รับความยินยอมจากกรมการฝึกหัดครู หลังจากจบการศึกษาแล้ว นางพรทิพาได้กลับมารับราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน 15 วันตามระยะเวลาในสัญญาลาศึกษาต่อ โดยได้รับการโอนไปรับราชการที่กรมวิชาการจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ต่อมาวันที่ 11มกราคม 2526 นางพรทิพายื่นใบลาออกจากราชการพร้อมทั้งขอเบิกเงินบำเหน็จต่ออธิบดีกรมวิชาการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม 2526 อธิบดีกรมวิชาการอนุญาตให้ลาออกโดยระบุว่านางพรทิพาได้ใช้ทุนครบถ้วนแล้ว ก่อนอนุญาตให้ลาออกกรมวิชาการได้ตรวจสอบถึงภาระผูกพันที่นางพรทิพามีต่อทางราชการแล้วโดยขอทราบรายละเอียดการใช้หนี้ทุนการศึกษาของนางพรทิพาทั้งภายในและภายนอกประเทศจากโจทก์ แต่โจทก์กลับแจ้งรายละเอียดเฉพาะการลาศึกษาต่อภายในประเทศไปให้ทราบ ปรากฏว่านางพรทิพาคงต้องชดใช้เงินให้แก่ทางราชการจำนวน 63,195 บาท โดยยอมให้หักจากเงินบำเหน็จของตน จึงเป็นการลาออกโดยชอบและได้ชดใช้หนี้ให้แก่ทางราชการครบถ้วนแล้ว การอนุญาตให้นางพรทิพาลาออกจากราชการเป็นความบกพร่องหรือประมาทอย่างร้ายแรงของกรมวิชาการโจทก์และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเหตุให้จำเลยผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ชอบที่จะฟ้องนางพรทิพาเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 203,030.20 บาทกับอีก 14,513.35 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยให้ชำระเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 22พฤศจิกายน 2527 ซึ่งเป็นวันผิดนัด พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2527จนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขณะฟ้องคดีนี้มีนายสายหยุด จำปาทองเป็นอธิบดี เดิมนางพรทิพา เฮอร์แมนหรือเพ็ชรรัตน์เป็นข้าราชการพลเรือน ระดับ 4 ตำแหน่งอาจารย์ 1 วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก สังกัด กรมโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2519 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2520 นางพรทิพาได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาไปศึกษาต่อภายในประเทศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมเวลาที่ลาศึกษา 1 ปี 6 เดือน 22 วันตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ เอกสารหมาย ป.จ.3โดยมีนายเจริญผล สุวรรณโชติ เป็นผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ.4 หลังจากนั้นนางพรทิพาได้กลับเข้าปฏิบัติราชการตามปกติรวม 4 วัน ต่อมาระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2522 นางพรทิพาได้รับทุนของทางราชการและได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาประเทศสหรัฐอเมริกา รวมเวลาที่ลาศึกษา 1 ปี 8 เดือน 15 วัน โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันต่อโจทก์ตามสัญญาศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ.5 หลังจากจบการศึกษา นางพรทิพาได้กลับเข้าปฏิบัติราชการตามปกติและในวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ตามคำสั่งของโจทก์ เอกสารหมาย ป.จ.2 ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2526นางพรทิพาได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการตามหนังสือขอลาออกจากราชการเอกสารหมาย ป.จ.13 และได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2526 ตามคำสั่งของกรมวิชาการเอกสารหมาย ป.จ.6 รวมเวลาที่นางพรทิพากลับเข้าปฏิบัติราชการหลังจากลาศึกษาต่อทั้งสองคราว 3 ปี 5 เดือน 24 วันกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องขอรับบำเหน็จของนางพรทิพาแล้วเห็นว่านางพรทิพามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากการลาออกจากราชการเป็นเงินทั้งสิ้น 63,195 บาท แต่นางพรทิพาได้ลาออกจากราชการไปโดยยังรับราชการชดใช้หนี้ทุนตามสัญญาศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศไม่ครบถ้วน ขาดเวลาที่จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้หนี้ทุนอีก 3 ปี 20 วัน จึงมีหนังสือไปถึงกระทรวงศึกษาธิการให้หักเงินบำเหน็จของนางพรทิพาดังกล่าวชดใช้หนี้ให้แก่ทางราชการส่วนหนึ่งพร้อมกับทวงถามนางพรทิพาให้ชดใช้หนี้ที่เหลือตามสัญญาต่อไปตามหนังสือเรื่องบำเหน็จของนางพรทิพา เอกสารหมาย ป.จ.29 โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้นางพรทิพาและจำเลยผู้ค้ำประกันร่วมกันชดใช้หนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ ตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4แต่ทั้งสองคนเพิกเฉย คงมีข้อนำสืบที่แตกต่างกันโดยโจทก์นำสืบว่านางพรทิพาได้ลาศึกษาต่อภายในประเทศ 1 ปี 9 เดือน 22 วันลาไปศึกษาต่างประเทศอีก 1 ปี 8 เดือน 15 วัน ต้องปฏิบัติราชการชดใช้เวลาทั้งสองช่วงที่ลาศึกษา 2 เท่า แต่นางพรทิพาปฏิบัติราชการชดใช้เพียง 3 ปี 5 เดือน 24 วัน ยังขาดอยู่ 3 ปี 20 วันจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยนำสืบว่าหลังจากจบการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว นางพรทิพาได้ปฏิบัติราชการชดใช้เงินทุนครบถ้วนแล้ว โจทก์ได้ขอลาออกจากราชการโดยก่อนที่จะอนุญาตให้ลาออกเจ้าหน้าที่ก็ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าชดใช้ทุนครบถ้วน จึงอนุญาตให้ลาออกได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เกี่ยวกับปัญหานี้จะได้วินิจฉัยเสียก่อนว่า นางพรทิพาผิดสัญญาศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ตามเอกสารหมาย ป.จ.5 หรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่านางพรทิพาได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาศึกษาต่อ 2 ครั้ง ครั้งแรกได้รับอนุญาตให้ศึกษาภายในประเทศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่1 มิถุนายน 2519 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2520 รวมเวลาที่ลาศึกษาต่อ 1 ปี 6 เดือน 22 วัน ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศ เอกสารหมาย ป.จ.3 ครั้งที่สองได้รับทุนให้ลาศึกษาต่อต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2522รวมเวลาที่ลาศึกษาต่อ 1 ปี 8 เดือน 15 วัน โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาศึกษาต่อทั้งสองครั้ง นางพรทิพาจะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุนไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับเงินเดือนหรือได้รับทุน สำหรับทุนให้ลาศึกษาต่อต่างประเทศเป็นทุนของรัฐบาล ตามความต้องการของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 3 หลังจากจบการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว กรมวิชาการได้ขอโอนนางพรทิพาจากกรมการฝึกหัดครูไปรับราชการที่กรมวิชาการเพื่อชดใช้ทุนตามโครงการดังกล่าว รับราชการอยู่ที่กรมวิชาการเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน 17 วัน นางพรทิพามีหนังสือขอลาออกจากราชการ ตามเอกสารหมาย ป.จ.13 โดยเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการได้บันทึกเสนออธิบดีกรมวิชาการตามลำดับชั้นไว้ในหนังสือดังกล่าวว่านางพรทิพารับราชการชดใช้ทุนครบถ้วนควรอนุญาตให้ลาออกได้กรมวิชาการจึงอนุญาตให้นางพรทิพาลาออกจากราชการตามเอกสารหมาย ป.จ.6 ต่อมากรมวิชาการได้มีหนังสือส่งหลักฐานการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาของนางพรทิพาผู้ลาออกจากราชการไปยังกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังเพื่อขอรับเงินบำเหน็จโดยกรมวิชาการยืนยันว่านางพรทิพาได้กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนครบตามสัญญาแล้ว กรมบัญชีกลางมีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการว่า “นางพรทิพาฯเคยได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนตามโครงการพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 3ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 11 กันยายน 2522ในชั้นนี้ใคร่ขอทราบว่านางพรทิพาฯได้กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ครบตามสัญญาแล้วหรือไม่ อย่างไร และขอสำเนาสัญญาลาศึกษาและสัญญาค้ำประกันของข้าราชการผู้นี้ พร้อมทั้งขอทราบว่าทุนดังกล่าวเป็นทุนประเภทใด มีพันธะผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้แก่ทางราชการหรือไม่ หากจะต้องชดใช้ขอทราบจำนวนเงินทุนที่ได้รับด้วยว่าเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อกรมบัญชีกลางจะได้พิจารณาสั่งจ่ายเงินบำเหน็จต่อไป” ตามเอกสารหมาย ป.จ.14 กระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือตอบกรมบัญชีกลางว่า “กรมวิชาการได้ติดต่อกรมการฝึกหัดครูซึ่งเป็นต้นสังกัดเดิมขณะที่นางพรทิพา เฮอร์แมนลาศึกษาต่อแล้ว ทุนดังกล่าวเป็นทุนรัฐบาล และต้องกลับมาปฏิบัติราชการชดใช้เป็นเวลาสองเท่าของเวลาที่ลาไปศึกษาต่อ ซึ่งนางพรทิพา เฮอร์แมน ได้ใช้เวลาในการศึกษา 1 ปี 8 เดือน15 วัน และได้กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้เป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน17 วัน ครบตามสัญญาแล้ว พร้อมนี้ได้ส่งสำเนาหนังสือลาศึกษาต่อและสัญญาค้ำประกันมาเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบต่อไป”ตามเอกสาร ป.จ.15 ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางพรทิพาได้รับทุนให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาประเทศสหรัฐอเมริกา ตามความต้องการของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 3 และหลังจากจบการศึกษาแล้ว กรมวิชาการได้โอนนางพรทิพาจากกรมการฝึกหัดครูไปรับราชการที่กรมวิชาการเพื่อชดใช้ทุนดังกล่าวจนกระทั่งครบตามสัญญา และอนุญาตให้นางพรทิพาลาออกจากราชการนั้น เป็นการจัดให้นางพรทิพาเข้ารับราชการชดใช้ทุนสำหรับการลาศึกษาต่อต่างประเทศโดยเฉพาะแล้ว และถือได้ว่าเป็นกรณีที่นางพรทิพาซึ่งเป็นลูกหนี้ได้เข้ารับราชการชดใช้ทุนโดยระบุว่าเป็นการชดใช้ทุนสำหรับการลาศึกษาต่อต่างประเทศอันจะต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องให้หนี้รายนี้เป็นอันได้เปลื้องไป เมื่อปรากฏว่านางพรทิพาได้ปฏิบัติราชการที่กรมวิชาการชดใช้ทุนครบตามสัญญาดังกล่าวแล้วนางพรทิพาจึงไม่ผิดสัญญาศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ตามเอกสารหมาย ป.จ.5 เมื่อนางพรทิพาไม่ผิดสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ต่อโจทก์”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share